นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เฟส 2 นั้น ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อที่อยู่ในชนบท ซึ่งจะพิจารณาเติมเงินเข้าไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท ผ่านกลไกแบงก์รัฐ
ส่วนธนาคารพาณิชย์ จะมีการหารือร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางดำเนินนโยบายการให้สินเชื่อผ่อนปรน โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้ง อย่างถี่ถ้วน
“ภาครัฐมีงบประมาณ เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมีกว่า 4-5 ล้านล้านบาท ก็จะหาวิธีการนำออกมาใช้ เพื่อดูแลประชาชน“
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนำระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) จาก 0.25%ต่อปี เป็น 0.125% ต่อปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี 68 เพื่อให้แบงก์รัฐมีความสามารถในการเข้าไปดูแลลูกค้า เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย MRR หรือพักจ่ายดอกเบี้ย ชำระเฉพาะเงินต้น เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน จะเป็นภาคใหญ่ที่ดูแล ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มน็อนแบงก์ ดิจิทัลพีโลน สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะดูให้ครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งจะดูเรื่องการแฮร์คัทหนี้ให้ด้วย ส่วนวิธีการจะเป็นรูปแบบซอฟต์โลน หรือรูปแบบใดยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดคุณสมบัติ
ขณะที่หนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs กรณีมูลหนี้วงเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายนั้น เงื่อนไขกำหนดให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ 10% ของวงเงิน ส่วนที่เหลือจะยกหนี้ให้ ซึ่งพบว่ามีจำนวนมูลหนี้ไม่เยอะ
ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สิน กรณีลูกหนี้เสียที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้จากแบงก์รัฐ รวมประมาณ 1.3 แสนบัญชี มูลหนี้ 300 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้ออมสินประมาณ 1.1 แสนบัญชี ซึ่งประชาชนจะต้องไปลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับธปท.