ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 บพท.เตรียมขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัยให้กับครัวเรือนในชนบท กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ขับเคลื่อนการพัฒนาสร้างยกระดับกลุ่มเป้าหมายที่มีขีดความสามารถในการจัดการตนเอง
รวมทั้งสร้างพื้นที่การเรียนเรียนรู้นวัตกรรมชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจัดการแก้ปัญหาคนจนและความเหลื่อมล้ำ การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด บพท.ได้คัดเลือก 3 ผลงานภายใต้กรอบการวิจัย ส่งเข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติ การประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม เข้าร่วมประกวดและจัดแสดง ในงาน 2024 Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE 2024) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 6 -7 ธันวาคม 2567 ภายในงานดังกล่าวมีผลงานร่วมส่งเข้าประกวดกว่า 500 ผลงาน จาก 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลงานที่ได้รับสนับสนุนทุนจากหน่วย บพท. ได้รางวัลทั้ง 3 ผลงาน
สำหรับรางวัลทั้ง 3 ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทอง GOLD MEDAL “แม่อิงชิโบริ ศิลปะ งานคราฟ สีย้อมผ้าธรรมชาติ” เป็นการย้อมสีธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาล้านนาดั้งเดิมร่วมกับศาสตร์และศิลป์ของญี่ปุ่นที่เป็นสากล ผสานกับองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และยังผสมผสานกระบวนการจัดทำลวดลายด้วยเทคนิคพิมพ์ลายผ้า เกิดลวดลายอัตตลักษณ์ของแต่ละชุมชน และขยายผลไปยังอีก 10 ชุมชนเพื่อให้มีรายได้ที่ยั่งยืน ขณะที่ carbon footprint ลดลงด้วยการใช้พืชและทรัพยากรในท้องถิ่นสำหรับการย้อมและทำซ้ำตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
ต่อมาคือ รางวัลเหรียญเงิน Silver MEDAL และรางวัล Special Award จากประเทศโปแลนด์ “เครื่องเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิจากโอ่งมังกร” โดยเครื่องเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้การสร้างความชื้นที่มีอุณหภูมิต่ำ ถ่ายเทความร้อนระหว่างอนุภาคของไอน้ำและอากาศในโรงเรือน ทำให้อากาศในโรงเรือนเย็นลงไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส สามารถผลิตเห็ดในและนอกฤดูกาลได้ ผลผลิตสูงขึ้นและเพิ่มรายได้ของคนในชุมชน
ส่วนรางวัลเหรียญเงิน Silver MEDAL “บ้านปลามีชีวิต” เป็นนวัตกรรมใช้สำหรับการงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ มีลักษณะเป็นคอกสี่เหลี่ยมเหมือนชั้งกอ แต่มีการปลูกต้นโกงกางที่มุมทั้งสี่และตรงกลาง 1 ต้นไว้ในท่อซีเมนต์ ซึ่งใส่ดินเลนไว้ด้านใน เมื่อต้นโกงกางนี้โตขึ้นจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีอายุการใช้งานที่นานกว่าบ้านปลาแบบเดิม และลดการซ่อมแซม ลดค่าใช้จ่าย ช่วยให้ปลาเพิ่มจำนวนและชนิดมากขึ้น ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้งาน แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน
ดร.กิตติ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับรางวัลจากเวทีนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งมีผลดีต่อการขยายผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีมาตรฐาน การสนับสนุนและเผยแพร่ผลงานดังกล่าวจึงเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพของนวัตกรรม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมมือและการสนับสนุนจากนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เป็นการเปิดช่องทางสำหรับการเข้าสู่ตลาดโลก เพิ่มโอกาสให้ผู้พัฒนานวัตกรรมพบกับพันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้าใหม่ ๆ และยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้คิดค้นพัฒนาผลงานต่อไป