การผลักดันนโยบาย ใช้บัตรโดยสารใบเดียว ครอบคลุมการเดินทางทั้งระบบ ล้อ-ราง-เรือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจร แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละโครงข่าย ใช้ระบบแตกต่างกัน แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
หลังจาก ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 แล้ว สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำร่างกฎหมายฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณามาเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง โดยกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญกำหนดเอาไว้รวม 7 หมวด 53 มาตรา
ส่วนแรกเป็นการกำหนดบทนิยาม “ระบบตั๋วร่วม” หมายถึง บัตรโดยสารหรือสิ่งที่ใช้แทนบัตรที่มีเทคโนโลยีตามมาตรฐาน สนข. เพื่อใช้ในการเดินทางข้ามระบบขนส่งสาธารณะ โดยมี 2 ระบบสำคัญ คือ
1. ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง ทำหน้าที่ประมวลผล รับส่งข้อมูล และคำนวณการใช้งานและธุรกรรมทั้งหมด
2. ระบบออกบัตรโดยสาร ให้บริการออกบัตรหรือสิ่งแทนบัตรเพื่อชำระค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางถนน ราง และน้ำ โดยมี “อัตราค่าโดยสารร่วม” ตามที่รัฐมนตรีกำหนด
สำหรับหมวด 1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม โดยมี รมว.คมนาคมเป็นประธานกรรมการ มีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน และกรรมการ รวมทั้งหมดไม่เกิน 17 คน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การพัฒนาระบบตั๋วร่วม หรือการพัฒนาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินงานและระยะเวลาเข้าร่วมดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
รวมทั้งพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วม พิจารณาเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางต่อคณะรัฐมนตรีในการสนับสนุนระบบตั๋วร่วม รวมถึงกำหนดนโยบายในการนำส่งเงินเข้ากองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม
ส่วนหมวด 2 สนข. ได้รับอำนาจเต็มในการกำกับดูแลระบบตั๋วร่วม โดยมีบทบาทสำคัญในการออกประกาศ ระเบียบ และข้อบังคับด้านมาตรฐานเทคโนโลยี รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การเชื่อมต่อระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาต และการบริหารจัดการรหัสความปลอดภัย พร้อมทั้งมีอำนาจในการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการทั้งระบบ
ด้านการขออนุญาตประกอบกิจการ ผู้ประกอบการต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก รมว.คมนาคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง สำหรับผู้ให้บริการประมวลผลและจัดการรายได้ของระบบ ใบอนุญาตออกตั๋วร่วม สำหรับผู้ให้บริการออกบัตรโดยสาร และใบอนุญาตให้บริการระบบตั๋วร่วม อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมระบบตั๋วร่วมเป็นไปโดยความสมัครใจ โดยผู้ประกอบการที่ไม่เข้าร่วมจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนสนับสนุน แต่จะไม่มีบทลงโทษแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อ สนข.ประกาศมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมแล้ว หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการให้สัมปทานกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องนำมาตรฐานดังกล่าวไปบังคับใช้กับสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วมทั้งหมด เพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบการเดินทางที่สะดวกและมีมาตรฐานเดียวกัน
หมวด 3 และหมวด 4 ได้กำหนดหน้าที่สำคัญของผู้รับใบอนุญาต โดยต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานเทคโนโลยีที่กำหนด พร้อมทั้งบำรุงรักษา ซ่อมแซม และปรับปรุงระบบตั๋วร่วมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังต้องจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลการใช้บริการ พฤติกรรมการเดินทาง พร้อมทั้งนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมตามที่กำหนด
สำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม จะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อสำคัญ ประกอบด้วย การบูรณาการอัตราค่าโดยสารระหว่างระบบขนส่งสาธารณะที่แตกต่างกัน การคำนวณค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ การรักษาความเป็นธรรมและความเสมอภาคแก่ทุกฝ่าย การไม่สร้างภาระเกินสมควรทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้โดยสาร รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้ เมื่อมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมแล้ว หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะ จะต้องนำอัตราดังกล่าวไปบังคับใช้กับสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมทั้งหมด เพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบค่าโดยสารอย่างเป็นเอกภาพ
หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม โดยให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมขึ้นใน สนข. มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก
โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล สนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม และ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม
กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแบบบูรณาการ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากหลายส่วน ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมและเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่งตามสัญญาสัมปทานหรือสัญญาร่วมลงทุน รายได้จากค่าปรับทางปกครอง เงินบริจาค รวมถึงดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
สำหรับการใช้จ่ายเงินกองทุน กำหนดวัตถุประสงค์ครอบคลุม 7 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมและอุดหนุนผู้ประกอบการเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยต้นทุนที่เหมาะสม สนับสนุนการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบจากการปรับใช้อัตราค่าโดยสารร่วม พัฒนาศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางของภาครัฐ สนับสนุนการลงทุนระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ให้เงินกู้ยืมเพื่อพัฒนาระบบ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน
ในด้านการกำกับดูแลกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมในการสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ พร้อมกำหนดบทลงโทษทางปกครอง โดยมีคณะกรรมการพิจารณาโทษปรับเป็นผู้พิจารณา
นอกจากนี้ ยังมีบทเฉพาะกาลระบุว่า เมื่อรมว.คมนาคม ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมแล้ว หน่วยงานรัฐที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนต้องเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับอัตราใหม่ภายใน 1 ปี โดยต้องรายงานความคืบหน้าผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุก 60 วัน เพื่อให้การปรับเปลี่ยนระบบเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ