รายงานข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติเห็นชอบให้รฟท.รายงานกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม ) พิจารณาอนุมัติ ทบทวนมติครม. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 โดยให้รฟท.พิจารณาศึกษา รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะที่ 1 (ไฮสปีดไทย-จีน) ตามพระราชบัญญัติระหว่างการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปี 2562
ทั้งนี้จากเดิมที่มติครม.ให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษ ที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของรฟท.เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการฯให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ให้มีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสมสำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ และบุคลากรให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันการจัดตั้งองค์กรพิเศษ ดังกล่าวต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบ แล้วมติครม.ที่เกี่ยวข้องต่อไป
“กระทรวงคมนาคมจะต้องพิจารณาว่าจะจัดตั้งองค์กรตามเดิมที่มีมติครม.หรือไม่ แต่รฟท.มีหน้าที่เพื่อพิจารณาศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หากไม่มีการใช้ในรูปแบบ PPP ก็มีความจำเป็นต้องตั้งองค์กร แต่ถ้าเดินหน้า PPP ไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรก็ได้” รายงานข่าวจากรฟท. กล่าว
รายงานข่าวจากรฟท.กล่าวต่อว่า ตามแผนรฟท.เสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอครม.เห็นชอบภายในปี 2568 หลังจากนั้นจะใช้เวลาศึกษาภายใน 6-8 เดือน จะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2568 และเสนอต่อครม.เห็นชอบการประกาศประกวดราคาในรูปแบบ PPP ภายในปี 2569 ซึ่งจะได้ตัวผู้ชนะประมูลภายในปี 2570 เพื่อให้ทันก่อนไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2571
“ยืนยันว่าการดำเนินการในรูปแบบ PPP ทันต่อการเปิดให้บริการไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 ภายในปี 2571 ซึ่งขั้นตอนของสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเพื่อจัดหาขบวนรถ โดยคาดว่าจะเปิดประมูล PPP เดินรถหรือซ่อมบำรุงรักษา รวมถึงการจัดหาพื้นที่รอบสถานี โดยให้เอกชนรายเดียวได้ตลอดเส้นทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโมเดลผลการศึกษาด้วย” รายงานจากรฟท.กล่าว