นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย - จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญา พบว่าคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีอีก 2 สัญญาที่ยังไม่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วย สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นสัญญามีงานโยธาทับซ้อนกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ปัจจุบันได้ความชัดเจนแล้วว่าทางคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง น่าจะได้ข้อสรุปแก้ไขสัญญาเร็วๆ นี้
ส่วนสัญญา 4 – 5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประกวดราคาได้ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด แต่ยังไม่สามารถลงนามก่อสร้างได้
เนื่องจากติดปัญหาก่อสร้างพื้นที่สถานีอยุธยา ที่มีข้อท้วงติงจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) หรือ ยูเนสโก ว่าการก่อสร้างสถานีอาจมีความเสี่ยงกระทบต่อมรดกโลก
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทางยูเนสโก ไม่ได้คัดค้านต่อการก่อสร้างสถานีอยุธยา เพียงแต่สอบถามเพื่อยืนยันข้อมูลเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ตอบกลับข้อมูลดังกล่าว ทำให้ยูเนสโกต้องทำหนังสือทวงถาม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ ได้ชี้แจงทุกข้อมูลแล้ว และมั่นใจว่าการก่อสร้างสถานีอยุธยาจะไม่ขัดต่อการเป็นมรดกโลก
ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลแล้วว่า ตำแหน่งของการก่อสร้างสถานีอยุธยาไม่ได้อยู่ในพื้นที่กระทบต่อเมืองมรดกโลก นอกจากนี้ยังได้ปรับแบบก่อสร้างด้วยการลดความสูงของสถานีลงจากเดิม 19 เมตร เหลือ 17 เมตร
และแบบก่อสร้างที่ทางยูเนสโกกังวลสอบถามมานั้น ได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่แบบที่จะมีการก่อสร้างในปัจจุบัน ดังนั้นมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานตามแผนล่าสุด จะไม่กระทบต่อข้อกังวลของยูเนสโก
“ยืนยันว่าเราต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงสายนี้และต้องมีสถานีอยุธยา ซึ่งทางยูเนสโกก็ไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่ทำหนังสือสอบถามข้อมูล แต่เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการตอบกลับให้ข้อมูลกับทางยูเนสโกมาเป็นปี ทำให้เขากังวลใจ ซึ่งขณะนี้เราได้ชี้แจงไปหมดแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้จะลงนามสัญญาได้ เพราะข้อกังวลของทางยูเนสโกก็ไม่ได้มีผลทางกฎหมายที่จะห้ามก่อสร้าง” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สัญญา 4 – 5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้วที่จะต้องเดินหน้าต่อ โดยคาดว่าภายหลังแถลงนโยบายรัฐบาล จะมีการเร่งรัดลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
แต่อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงฯ ต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง เพราะต้องเรียนให้นายกฯ ทราบถึงความเสี่ยงด้วย
อย่างไรก็ตามกระทรวงฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขทุกปัญหาและผลักดันให้ 14 สัญญาโครงการไฮสปีดเทรนสายนี้ให้สามารถก่อสร้างและแล้วเสร็จเปิดบริการภายในปี 2571
โดยภายหลังแถลงนโยบายรัฐบาล จะตั้งคณะทำงานเพื่อหารือร่วมกับผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างทั้ง 14 สัญญา บูรณาการงานร่วมกัน และผลักดันให้โครงการก่อสร้างคืบหน้าแล้วเสร็จในระยะเวลาใกล้เคียงกัน รวมไปถึงนำไปเป็นต้นแบบของการทำงานก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย