เปิดจุดอ่อนกลไกไตรภาคี ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ที่ไม่ทั่วถึง

25 ธ.ค. 2567 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 06:11 น.

กลไกไตรภาคีในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ที่แม้จะช่วยถ่วงดุลผลประโยชน์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล แต่มีข้อจุดอ่อนทั้งตัวแทนและสูตรคำนวณนั้นเหมาะสมแค่ไหน พร้อมข้อเสนอปรับปรุงเพื่อค่าจ้างที่เท่าเทียมและสอดคล้องกับเศรษฐกิจจริง

รัฐบาลเดินหน้าปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทั่วประเทศ มีเป้าหมายมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ครั้งที่ 11/2567 นำโดยนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาอัตราค่าจ้างใหม่ตามนโยบายรัฐบาล 

โดยเคาะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ได้ 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดอื่นๆ ได้ปรับขึ้นวันละ 7 -55 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.9)

 

จุดอ่อนในกลไกไตรภาคี

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า กลไกการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอาศัยการเจรจาต่อรองจากสามฝ่าย ได้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล

กลไกดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่วงดุลผลประโยชน์ให้เกิดความเป็นธรรม โดยให้ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและในท้องถิ่น สามารถดำเนินต่อไปได้ แม้กลไกไตรภาคีนี้จะเป็นโครงสร้างที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังมีข้อกังวลสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

ตัวแทนที่ไม่แท้จริง มีคำถามว่าผู้แทนจากภาคแรงงานและภาคธุรกิจในคณะกรรมการฯ เป็นตัวแทนที่แท้จริงหรือไม่ บางฝ่ายมองว่าผู้แทนดังกล่าวอาจไม่สามารถสะท้อนผลประโยชน์ที่แท้จริงของกลุ่มที่ตนเป็นตัวแทน

สูตรคำนวณที่ล้าหลัง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมักอ้างอิงสูตรคำนวณเชิงวิชาการ โดยเพิ่มหรือลดตามปัจจัยคุณภาพ เช่น ความเห็นของภาคธุรกิจหรือค่าครองชีพ แต่ปัญหาคือสูตรนี้อาจมีข้อผิดพลาดจากดัชนีที่ถูกถ่วงน้ำหนักผิด ทำให้ค่าจ้างที่ออกมาไม่สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภาพแรงงานและเศรษฐกิจ

แม้ว่ากลไกนี้อาจจะมีข้อปรับปรุงอยู่บ้าง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกลไกที่ดีในระดับหนึ่งในการทำหน้าที่ประเมินความเหมาะสมของนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ที่อาจจะแข่งขันกันขึ้นค่าแรงมากเกินไป รวมทั้งการขึ้นค่าแรงแบบเท่ากันทั่วประเทศก็อาจจะไม่มีความเหมาะสมเนื่องจากระดับการพัฒนา ค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ก็ถือว่าได้ผ่านกลไกที่ว่านี้แล้ว

เสนอปรับปรุงกระบวนการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ

ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ โดยคัดเลือกตัวแทนจากทุกฝ่ายให้โปร่งใสและเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงสูตรคำนวณให้ทันสมัยและสะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ เพื่อให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคตสามารถสร้างความเป็นธรรมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ แม้จะยังมีเสียงวิจารณ์และข้อเสนอแนะที่ต้องนำไปปรับปรุง แต่ก็สะท้อนความพยายามของทุกฝ่ายในการผลักดันให้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม พร้อมคำนึงถึงความสามารถของธุรกิจในการปรับตัวอย่างสมดุล