“เผ่าภูมิ” ชี้นโยบายการเงิน-คลัง ต้องประสาน หนุนเงินเฟ้อปีหน้า 2%

25 ธ.ค. 2567 | 06:23 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 06:31 น.

“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ชี้นโยบายการเงิน-การคลัง ต้องประสานกัน หนุนเงินเฟ้อปี 68 ตามกรอบค่ากลางที่ 2% แนะธปท.แทรกแซง “ค่าเงินบาท” แก้ผันผวน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนการเงินตามที่กระทรวงการคลัง เสนอกรอบเงินเฟ้อ ปี 2568 อยู่ที่ระดับ 1-3% โดยค่ากลางควรอยู่ที่ 2%นั้น เพื่อให้สามารถเดินตามกรอบเงินเฟ้อดังกล่าวได้ กระทรวงการคลังมีหน้าที่เข้ามาดูเรื่องเศรษฐกิจ และหากอยู่ในภาวะเงินฝืด เราก็จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านเครื่องมือทางการคลัง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินต้องเข้าไปดูเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลกระทบโดยตรงกับเรื่องเงินเฟ้อ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งนี้ ตามข้อตกลงเพื่อผลักดันให้เงินเฟ้อขยับสู่ค่ากลางที่ 2%ให้ได้นั้น ต้องมีมาตรการออกมาดูแล

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งทำงานร่วมกัน หากมีการเหยียบคันเร่งก็ต้องทำร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการหารือร่วมกันเยอะขึ้น ได้ปรับภาพทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น จึงมีมุมมองเศรษฐกิจใกล้เคียงกันมากขึ้น และนำมาสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา

“มองว่าค่ากลางที่ 2% จะสามารถขยับไปสู่จุดนั้นได้ โดยประเมินว่าปี 2568 จะเห็นอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะมาตรการทางการคลังที่จะออกมามีเม็ดเงินก้อนใหญ่ และเศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้น ส่วนจะอัดเม็ดเงินลงไปเท่าไหร่จะต้องดูภาวะเศรษฐกิจ และความเหมาะสมของช่วงเวลา เพราะรัฐมีงบประมาณจำกัด ต้องดูความเหมาะสมในการกระจายเม็ดเงิน”

ขณะที่เรื่องค่าเงินบาทนั้น มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนต้องอยู่ในเรทที่แข่งขันได้ ไม่ผันผวนจนเกินไป โดยต้องดูค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งไทย รักษาค่าเงินบาทให้สามารถเกาะกลุ่มให้ได้ ขณะที่การผันผวนของค่าเงินนั้น เป็นหน้าที่ของธปท. ต้องเข้าไปแทรกแซงดูแล เพื่อให้กระทบต่อกลุ่มผู้ส่งออก

ทั้งนี้ การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว มองว่ายังไม่เพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสม จะต้องดูระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทางการเงินในภาพรวมด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มองว่าค่าเงินบาทอยู่ในอัตราที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา