ผ่ามุมมอง “นายจ้าง” หลังไตรภาคี “เกี้ยเซียะ” ขึ้นค่าแรง 400 บาท

26 ธ.ค. 2567 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2567 | 06:54 น.

ผ่ามุมมอง “นายจ้าง” หลังคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี “เกี้ยเซียะ” ถอยกันคนละก้าว ก่อนตัดสินใจปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่เท่ากันทั้งประเทศ เริ่ม 1 มกราคม 2568

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความปรับค่าจ้างขั้นต่ำของขวัญปีใหม่ นายจ้าง-ลูกจ้างต้องจับมือฝ่าวิบากทางเศรษฐกิจเดินไปด้วยกัน มีเนื้อหาสำคัญระบุว่าสวัสดีปีใหม่พุทธศักราช 2568 มาพร้อมกับการปรับค่าจ้างอัตราใหม่ ซึ่งครม.ได้รับทราบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ประกอบด้วย 17 อัตราทั่วประเทศค่าจ้างใหม่อยู่ระหว่าง 337 – 400 บาทต่อวัน รายได้เพิ่มขึ้นต่ำสุด 7 บาทจนไปถึง 55 บาท มีผลต่อสถานประกอบการเอกชนจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2566 มีจำนวน 917,916 รายและ 31 มีนาคม 2567จำนวนลดลงเหลือ 912,297 ราย ในจำนวนนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตประมาณ 72,599 แห่ง

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

กลุ่มที่ได้รับอานิสงค์แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือแรงงานไทย จากตัวเลขของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ระบุว่ามีแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละสี่ร้อยบาทมีจำนวนประมาณ 3.09 ล้านคนแต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลทำให้มีการขยับค่าจ้างแบบยกแผง

อีกกลุ่มคือแรงงานต่างด้าวมีจำนวนประมาณ 3.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมาร้อยละ 70 ที่จะได้รับอานิสงค์ปรับค่าจ้างซึ่งเงินส่วนใหญ่จะถูกโอนกลับประเทศต้นทาง

ในช่วงปีที่แล้วค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทถูกผลักดันจากภาคการเมืองอย่างต่อเนื่อง หลังจากปรับไป 2 รอบคือช่วงต้นปีและช่วงสงกรานต์ขยับปรับสี่ร้อยบาทนำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยวเฉพาะบางพื้นที่และเฉพาะธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กแรงงานไม่เกิน 50 คน ภาคการเมืองยังคงกดดันให้ค่าจ้างไปถึงเป้าหมายขีดเส้นว่าภายใน 1 ตุลาคมปีที่ผ่านมาจะต้องให้ได้แต่ติดที่สูตรการคำนวณค่าจ้างมีการแก้ไขหลายครั้ง 

ที่สุดก็ไม่พ้นต้องนำปัจจัยผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเงินเฟ้อและตัวแปรเชิงคุณภาพ (ตามมาตรา87) เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจความสามารถนายจ้างและความเป็นอยู่ของลูกจ้าง คำนวณอย่างไรก็ไม่ถึง 400 บาท ช่วงเดือนกันยายนก่อนปิดปีงบประมาณเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้าง 2 ครั้งก็ล่มก่อนที่จะประชุมเดือนธันวาคมมีการประชุมส่งท้ายปีถึงสองครั้ง การประชุมในวันที่ 23 ธันวาคมหลังจากถกเถียงกันพักใหญ่

ในที่สุดรอมชอมหรือ “เกี้ยเซียะ” ถอยกันคนละก้าวตกลงกันได้ค่าจ้างจะต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศและยังคงใช้สูตรโดยนำปัจจัยตัวแปรเชิงคุณภาพมาคำนวณอัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี มีมติและครม. ผ่านวาระเพื่อทราบประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 2568 ทันเป็นของขวัญปีใหม่ มี 17 อัตรา 

ต่ำสุดวันละ 337 บาท ใช้กับ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานีและยะลา อัตราสูงสุดวันละ 400 บาทใช้กับ 4 จังหวัด กับ 1 อำเภอ (ค่าเฉลี่ย 355 บาทต่อวัน) หากคำนวณเป็นเปอร์เซ็นที่เพิ่มขึ้นอัตราที่ปรับต่ำสุดร้อยละ 2.0 และสูงสุดร้อยละ 15.9

คำถามว่าอัตราค่าจ้างที่ปรับครั้งนี้มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดคำตอบอาจต่างกันขึ้นอยู่กับว่าถามใคร หากเป็นนายจ้างอาจบอกว่าพอรับได้โดยเฉพาะกทม.และจังหวัดปริมณฑลที่เป็นแหล่งจ้างงานใหญ่สุดค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 9 บาทคิดเป็นร้อยละ 2.48 ขณะที่ 67 จังหวัดที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 337 บาทและสูงสุด 359 บาท 

โดยเฉลี่ยการปรับใช้อัตราที่รอมชอมกันคือปรับเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2 ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 7 บาทหรือเดือนละไม่เกิน 210 บาท คงเพิ่มต้นทุนบ้างแต่คงไม่ถึงกับมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือทำให้ข้าวของ-สินค้าขึ้นราคา สำหรับจังหวัดที่ปรับ 400 บาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมซึ่งค่าจ้างอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากค่าครองชีพสูงและแรงงานหายาก 

ที่ต้องปรับตัวมากหน่อยคือสถานประกอบการที่อยู่อำเภอหาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหรืองานที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปสินค้าประมงจากทะเลและอุตสาหกรรมยางพาราและแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานมากและมีมาร์จินค่อนข้างต่ำ ปรับค่าจ้างรวดเดียววันละ 35 บาท หรือเดือนละประมาณ 1,050 บาท/คน คงไม่ง่ายที่จะปรับราคาสินค้า

 

ผ่ามุมมอง “นายจ้าง” หลังไตรภาคี “เกี้ยเซียะ” ขึ้นค่าแรง 400 บาท

 

คำถามเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้นหากไปถามองค์กรแรงงานหรือลูกจ้างคงบอกว่าปรับขึ้นวันละ 7 – 9 บาทคงไม่พอยาไส้แค่ก๋วยเตี๋ยว-ข้าวแกงทยอยปรับขึ้นราคาชามละ 10 บาทแซงหน้าไปก่อนแล้ว จากการพูดคุยกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับแรงงานระบุว่าค่าจ้างที่พออยู่ได้และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ประมาณ 700 – 750 บาทต่อเดือนหรือเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับครั้งนี้ถึงเกือบเท่าตัว 

ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “Minimum Wage Base” ซึ่งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO : International Labour Organization ได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำโดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. เพื่อเป็นมาตรฐานแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงาน โดยให้ประเทศสมาชิกนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานโดยได้ตราอนุสัญญาว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

2. ประเทศสมาชิกสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงานซึ่งยังไม่มีโอกาสต่อรองเรื่องค่าจ้างแรงงาน

3. การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นพื้นฐานของลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้คนหนึ่งคนยังชีพอยู่ได้และค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องได้รับการพิจารณาปรับปรุงตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

4. เกณฑ์การปรับค่าจ้างต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของนายจ้างมาพิจารณาเป็นปัจจัยสำคัญรวมถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าเฉลี่ยผลิตภาพแรงงาน เงินเฟ้อตลอดจนตัวแปรเชิงคุณภาพ

5. ประเทศที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อาจนำหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งหรือมากกว่ามาใช้โดยกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง กรณีประเทศไทยมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

6. นิยามเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage Base) ในประเทศไทยหมายถึง อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือคนเดียวเมื่อแรกเข้าทำงาน คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดเป็นอัตรารายวันโดยคำนวณพื้นฐานของค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมเพียงพอต่อการดำรงชีวิต 30 วันต่อเดือน

 

ผ่ามุมมอง “นายจ้าง” หลังไตรภาคี “เกี้ยเซียะ” ขึ้นค่าแรง 400 บาท

 

สรุปโดยสังเขป ค่าจ้างขั้นต่ำ หมายถึง ค่าจ้างอ้างอิงตามกฎหมายกำหนดให้เป็นค่าตอบแทนต่ำสุดที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างสำหรับการทำงานในระยะเวลาหนึ่งสำหรับคนหนึ่งคน ซึ่งเป็นแรงงานแรกเข้าหรือไม่เคยทำงานมาก่อนสามารถดำรงชีพตามสมควรและเหมาะสมในท้องถิ่นนั้น เป็นค่าจ้างต่ำสุดตามกฎหมายกำหนดใช้บังคับกับแรงงาน/ลูกจ้างทุกคนไม่สามารถเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเพศใดวัยใด การศึกษา ทักษะ ประสบการณ์ ตลอดจนความพิการหรือเป็นแรงงานข้ามชาติต้องใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่าเทียมกัน

สำหรับที่มีการแจงว่าค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ที่ปรับอัตรา 337 – 400 บาท ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เนื่องจากไม่ได้แยกแยะออกจากค่าจ้างตามปกติวิสัย (Normality Wage) คือค่าจ้างเมื่อแรงงานทำงานไประยะเวลาหนึ่งจะมีทักษะ-ประสบการณ์ในรูปของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีการปรับค่าจ้างหรือค่าแรง 

ยิ่งเมื่อทำงานระยะเวลานานขึ้น ทักษะการทำงานก็มากขึ้น มีผลต่อผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้มีการปรับค่าจ้างมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพียงพอในการดูแลครอบครัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

โดยข้อเท็จจริงอัตราค่าจ้างมัธยฐานของแรงงานไทยสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำขอยกตัวอย่างแรงงานในภาคเอกชนซึ่งมีจำนวน 15.404 ล้านคน เช่น ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานภาคการค้าและบริการเฉลี่ยเดือนละ 17,486 บาทต่อเดือน หรือวันละ 582.8 บาท ค่าจ้างแรงงานในภาคการผลิตเฉลี่ยเดือนละ 14,431 บาทต่อเดือน หรือวันละ 481 บาท มีแรงงานในภาคเกษตรที่ค่าจ้างยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

มีการกล่าวว่าค่าจ้างของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับค่าจ้างในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โครงสร้างเศรษฐกิจต่างกับประเทศไทย ซึ่งยังติดกับดักอุตสาหกรรมยุค 2.0 - 3.0 ต้องพึ่งพาแรงงานเข้มข้นและสินค้าราคาต่ำ เพื่อแข่งขันกับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างที่ต่ำกว่าไทย 

ค่าจ้างของประเทศที่กล่าวข้างต้นถึงแม้จะสูง แต่ก็ตามมาด้วยค่าครองชีพที่สูงกว่าไทยหลายเท่า แรงงานในประเทศที่พัฒนาแล้วจึงต้องดิ้นรนและแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทางเดินของไทยคือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้มข้นผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง ลดแรงงานในภาคเกษตร โดยปรับใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูง

ทิศทางของประเทศคือการใช้เทคโนโลยีเข้มข้นโดยใช้แรงงานน้อยแต่เป็นแรงงานประเภท “Skill Labour” ที่มีผลิตภาพแรงงานสูงกว่าค่าจ้าง คำถามคือการเปลี่ยนโครงสร้างเหล่านั้นจะมีผลอย่างไรต่อการปรับตัวของแรงงานทักษะต่ำ รวมถึงแรงงานสูงอายุตั้งแต่วัย 45 ปีขึ้นไป ซึ่งเข้าสู่นิยามแรงงานสูงวัย 

แรงงานเหล่านี้มีจำนวนมากกว่า 15 – 20 ล้านคน จะนำเขาเหล่านี้ไปไว้ตรงไหนของโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ขณะที่เทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น Ai– Smart Robot – Smart Automation กำลังเร่งตัวกลายเป็นภัยคุกคามของแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวเองทันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่กล่าวจะชอบไม่ชอบไม่สำคัญแต่เป็นทางเดินของประเทศไทยในอนาคตไม่เกินทศวรรษหน้าจะต้องไปให้ถึง