ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมร่างกฎหมายเศรษฐกิจที่สำคัญ 14 ฉบับ ที่รัฐบาลผลักดันในปี 2568 มุ่งปรับโครงสร้างกฎหมายให้ทันสมัย ลดขั้นตอน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีกฎหมายสำคัญที่น่าจับตาหลายฉบับ
สำหรับกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว มี "ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์" (หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์) ที่จะปฏิรูประบบตลาดทุนครั้งใหญ่ รองรับการออกหลักทรัพย์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดต้นทุนการทำธุรกรรม พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ด้านกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว และเตรียมบรรจุวาระในการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร มี 3 ฉบับสำคัญ ได้แก่
1. "ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตฯ" ที่จะปฏิวัติระบบราชการ ลดขั้นตอน เพิ่มช่องทาง Fast Track จัดตั้งศูนย์รับคำขอกลางผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมบังคับใช้มาตรฐานการให้บริการประชาชน
2. "ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ" หรือ "หวยเกษียณ" นวัตกรรมใหม่กระตุ้นการออมผ่านสลากออมทรัพย์ ครอบคลุมทั้งสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติและผู้ประกันตนมาตรา 40 เตรียมรับมือสังคมสูงวัย
3. "ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม" ที่จะยกระดับระบบขนส่งมวลชน สร้างมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม พร้อมจัดตั้งกองทุนสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการและประชาชน
ส่วนกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร มีหลายฉบับที่สำคัญ อาทิ "ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง" ที่จะวางรากฐานการพัฒนาระบบราง กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และควบคุมอัตราค่าโดยสาร
"ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย" ที่เพิ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดสำหรับธุรกิจขนาดย่อม และ "ร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน" ที่จะแก้ปัญหาหมู่บ้านจัดสรรอย่างครบวงจร
นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายที่กระทรวงกำลังจัดทำเตรียมเสนอ ครม. อีก 3 ฉบับ คือ
1. ร่างพ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยกระทรวงการคลัง ที่เปิดรับฟังความคิดเห็น วัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ระดับโลก
2. ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงครบวงจร
3.ร่าง พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเบ็ดเสร็จ
ร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว:
ร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว:
ร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร:
ร่างกฎหมายที่เตรียมเสนอ ครม.
สำหรับการปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจชุดนี้จะช่วยยกระดับประเทศไทย ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
พร้อมทั้งช่วยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ประหยัดต้นทุนและเวลาของภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐก็จะทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว