นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 3/2567 นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อมูลเหตุผลและผลกระทบต่อสภาพคล่องจากกรณีโรงไฟฟ้า 3 แห่งไม่สามารถ COD ได้ตามกำหนดเวลา พร้อมทั้งอธิบายแผนการดำเนินธุรกิจและความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าว และการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ การที่โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งไม่สามารถ COD ได้ตามกำหนดเวลานั้น ส่งผลทำให้บริษัทฯ ต้องมีการกู้ยืมเงินระยะสั้น (Bridging Loan) เป็นจำนวนมาก ซึ่งการจ่ายคืนเงินต้นของหุ้นกู้ รุ่น EP239A (2 ปี) ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 จำนวน 750.00 ล้านบาท และหุ้นกู้ รุ่น EP230A (2.5ปี) ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 จำนวน 770.00 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ สามารถออกหุ้นกู้ทดแทนได้เพียง 670.20 ล้านบาท จากการที่ตลาดหุ้นกู้ถูกกระทบอย่างรุนแรง ในช่วงปีที่ผ่านมา และบริษัทฯ ต้องมีภาระในจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ไตรมาสละ 49 ล้านบาท ตรงตามกำหนดมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดในการระดมเงินทุน หรือเงินกู้ จากสถาบันการเงิน ตลาดเงินและตลาดทุน ปัจจุบันจึงได้ขอขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ สำหรับหุ้นกู้รุ่น EP249A จำนวน 570.00 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 14 กันยายน 2567 และหุ้นกู้รุ่น EP24DA จำนวน 367.90 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 27 ธันวาคม 2567 ออกไปอีก 1 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิม และได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ตามที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิสำหรับระยะเวลาที่ขยายออกไป อีกร้อยละ 0.50 ต่อปี สำหรับหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่น
นอกจากนี้ ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงมีรายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม จากโครงการ Huang Linh 3 กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 696.79 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ร้อยละ 63 และจากธุรกิจไฟฟ้า ร้อยละ 37 ซึ่งธุรกิจดังกล่าว ยังมีการเจริญเติบโต สามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน และกระแสเงินสดให้แก่บริษัทฯ ได้ในปัจจุบัน
สำหรับการขอ COD สำหรับโรงไฟฟ้าอีก 3 แห่ง มีความคืบหน้า คือ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อประกาศและดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายและแนวทางการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมได้เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568
ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานของโครงการในเวียดนาม และต่อบริษัทฯ ในภาพรวมแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นมูลค่าการลงทุนในโครงการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมในสกุลเงินตราต่างประเทศ (US Dollar) ที่จะต้องใช้อัตราปิด หรืออัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เพื่อบันทึกเป็นเงินบาทตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 21 และมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นงวดที่ผ่านมา มีความผันผวนเป็นอย่างมาก จึงมีผลกำไร หรือ ขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง (Unrealized Gain or Loss) ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินกิจการในแต่ละวันเลย
ขณะเดียวกัน ในส่วนของวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงินจากธนาคารในเวียดนาม 870 ล้านบาท สำหรับโครงการ HL3 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาโครงการจำนวนประมาณ 130 ล้านบาท เมื่อการเพิ่มทุนครั้งที่ 1 แล้วเสร็จ สำหรับเงินกู้ส่วนที่เหลือ 740 ล้านบาท จะเป็นการชำระคืนเงินกู้ผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ (Offshore Shareholder Loan) เพื่อจะนำมาเป็นเงินทุนในการจัดการปัญหาสภาพคล่องของบริษัทฯ
โดยจะสามารถเบิกงวดแรกได้ประมาณ 350 ล้านบาท เมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนเรื่องการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 แล้วเสร็จ และงวดที่ 2 เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงกับทาง EVN เรื่องการกำหนดราคาค่าซื้อไฟฟ้า (Final FIT) แล้วเสร็จ โดยขั้นตอนในการคืนเงินกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่อยู่ต่างประเทศ ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดใหม่ของธนาคารกลางเวียดนาม ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ซึ่งคาดว่าการเบิกเงินกู้เพื่อคืนเงินกู้ผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนมีนาคม 2568
นอกจากนี้ การกู้ยืมเงินจากบริษัท เพียร์ ฟอร์ ยู จำกัด (มหาชน) (PEER) รายการดังกล่าว เป็นการชำระคืนเงินมัดจำให้แก่ PEER โดยอ้างอิงตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระคืนเงินมัดจำ ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสถานะกิจการ