วันนี้ (1 มกราคม 2568) นับเป็นวันแรกที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้กับแรงงานทั่วประเทศ ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) ซึ่งมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ประกอบด้วย 17 อัตราทั่วประเทศ โดยค่าจ้างใหม่อยู่ระหว่าง 337 – 400 บาทต่อวัน ปรับขึ้นต่ำสุด 7 บาทจนไปถึงสูงสุด 55 บาท หรือเฉลี่ย 2.9%
คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในการประชุม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ระบุถึงเหตุผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2567 ปรับดีขึ้นจากรายรับภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 ก็คาดว่าจะขยายตัว 2.8%
ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของลูกจ้างในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เกือบทุกรายการมีราคาสูงขึ้น ได้ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง
ดังนั้น เพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานทั่วไปที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ คณะกรรมการค่าจ้าง จึงได้มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตรา 7 - 55 บาท เป็นอัตราวันละ 337 – 400 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ 17 อัตราทั่วประเทศ มีดังนี้
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ยอมรับถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ว่า หากเป็นนายจ้างอาจบอกว่าพอรับได้ โดยเฉพาะกทม.และจังหวัดปริมณฑลที่เป็นแหล่งจ้างงานใหญ่สุดค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 9 บาทคิดเป็น 2.48% ขณะที่ 67 จังหวัดที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 337 บาทและสูงสุด 359 บาท
โดยเฉลี่ยการปรับใช้อัตราที่รอมชอมกันคือปรับเพิ่มเฉลี่ย 2% ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 7 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 210 บาท คงเพิ่มต้นทุนบ้าง แต่คงไม่ถึงกับมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือทำให้ข้าวของ-สินค้าขึ้นราคา
ส่วนจังหวัดที่ปรับ 400 บาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ซึ่งค่าจ้างอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากค่าครองชีพสูงและแรงงานหายาก
แต่ยอมรับว่า กลุ่มที่ต้องปรับตัวมากหน่อย คือสถานประกอบการที่อยู่อำเภอหาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหรืองานที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปสินค้าประมงจากทะเล อุตสาหกรรมยางพารา และแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อการส่งออก
"อุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานมากและมีมาร์จินค่อนข้างต่ำ หากปรับค่าจ้างรวดเดียววันละ 35 บาท หรือเดือนละประมาณ 1,050 บาทต่อคน คงได้รับผลกระทบ" ดร.ธนิต ระบุ