เป็นเพราะตัวเลขมูลค่าความเสียหายที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ออกมาเปิดเผยสถิติของศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 มีการแจ้งความเกี่ยวกับคดีออนไลน์กว่า 739,000 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 77,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท สามารถอายัดเงินป้องกันความเสียหายได้ประมาณ 8.6 พันล้านบาทเศษ หรือประมาณ 11%
แม้ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) และ กสทช.หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผนึกกำลังร่วมกันปราบปราบจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็ยังระบาดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของ นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย โดย นายทักษิณ ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีในตอนหนึ่งว่า ถึงเวลาสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ให้นำเอาขึ้นมาบนดินให้หมด จัดการพนันออนไลน์ให้ถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีอย่างถูกต้องเพื่อนำเงินภาษีเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อนำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาบนดินไม่สามารถโกงได้เพราะรัฐบาลควบคุมได้ หากคนในครอบครัวติดงอมแงมสามารถฟ้องร้องและส่งตัวไปหาหมอเพื่อบำบัดได้
“ปีนี้ ยาเสพติด ปัญหาเรื่องคอลเซ็นเตอร์จะจัดการให้เรียบ” นายทักษิณ กล่าว
ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญด้านความมั่นคงใน ปี 2568 คือ การป้องกันอาชญากรรมอย่างรอบด้าน และ ปราบปรามเชิงรุก บูรณาการร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความปลอดภัยและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน ผ่านนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบสนองประชาชนอย่างทันท่วงที เพื่อสร้างความสงบสุขให้สังคมและลดอาชญากรรมในทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลเชื่อมั่นว่าในปี 2568 นี้อาชญากรรมไซเบอร์และภัยการหลอกลวงออนไลน์จะต้องหมดไป
หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาพูดถึงการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีมาตรากำจัดให้เรียบนั้น ต่อมาทาง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ออกมาเปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. นัดแรกวันที่ 7 ม.ค. 2568 นี้ กระทรวงดีอี จะเสนอขออนุมัติเห็นชอบ การแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร และการเพิ่มโทษ การซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือว่า เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม
สำหรับ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 แก้กฎหมาย ดังนี้
“ผมมีความมั่นใจว่าร่าง พ.ร.ก.นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับที่มีประโยชน์และส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อประชาชนที่ถูกภัยออนไลน์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง“ นายประเสริฐกล่าว
หาก ครม.มีมติ ผ่าน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะเริ่มดำเนินการบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2568.