ศึกชิง“นายก อบจ.” เจาะ 9 สนาม เดิมพันศักดิ์ศรี-สู้เดือด

05 ม.ค. 2568 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2568 | 02:22 น.

ศึกชิง“นายก อบจ.” เจาะ 9 สนาม เดิมพันศักดิ์ศรี-สู้เดือด : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4059

KEY

POINTS

 

  • วันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 เป็นวันที่ กกต. กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง นายก อบจ. 47 จังหวัด และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ
  • ในจำนวน 47 จังหวัด ที่ต้องเลือก นายก อบจ.ใหม่  มี 9 จังหวัด เป็นสนามที่จะสู้กันอย่างดุเดือด เพราะมีอนาคตทางการเมือง และศักดิ์ศรีของแต่ละตระกูล เป็นเดิมพัน 
  • มารอลุ้นกันว่า ในจำนวน นายก อบจ. 47 จังหวัด พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน ที่ส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งจะได้ไปพรรคละกี่เก้าอี้ รวมถึงพวกที่ลง “อิสระ” แต่มีบางพรรคการเมืองหนุนหลัง จะได้ไปกี่จังหวัด
     

ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศไทย 

ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ปี 2557 และเรื่อยมาจนถึงปี 2567 มี นายก อบจ. 29 จังหวัด ทยอยลาออกก่อนครบวาระ วันที่ 19 ธ.ค. 2567 ทำให้ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งไปแล้ว
ทำให้การเลือกตั้ง ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ มี 47 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ต้องเลือก นายก อบจ. และ 76 จังหวัดต้องเลือก สจ.ใหม่ 

47 จังหวัดเลือก นายก อบจ.

สำหรับ 47 จังหวัดที่จะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ.ใหม่ ประกอบด้วย กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี 

พังงา พัทลุง พิจิตร แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และ อำนาจเจริญ

ส่วนจังหวัดที่ นายก อบจ. ลาออก และจัดเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว 29 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สระแก้ว กาญจนบุรี เลย นครสวรรค์ พะเยา พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ชัยภูมิ อ่างทอง พิษณุโลก ราชบุรี ปทุมธานี ยโสธร ระนอง อุทัยธานี ชุมพร สุโขทัย ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช กําแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี และ อุตรดิตถ์

เจาะ 9 สนามเดิมพันศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ ในจำนวน 47 จังหวัด ที่ต้องเลือก นายก อบจ.  มี 9 จังหวัด ที่เป็นสนามจะสู้กันอย่างดุเดือด เพราะมีอนาคตทางการเมืองของแต่ละคน และศักดิ์ศรีของแต่ละตระกูล เป็นเดิมพัน จึงแพ้ไม่ได้ เริ่มจาก

”สจ.จอย”สายฝัน“สจ.โต้ง”

ปราจีนบุรี : สนาม นายก อบจ.ปราจีนบุรี ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ ภายหลัง สจ.โต้ง- ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ เจอใบสั่งสังหารโหดภายในบ้านพักของ โกทร-สุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ. ปราจีนบุรี หลายสมัย โดยเงื่อนปมมาจากการที่ “สจ.โต้ง” ต้องการส่ง สจ.จอย-ณภาภัช อัญชสาณิชมนา ภรรยา ลงชิงตำแหน่ง นายก อบจ. 

อย่างไรก็ตาม แม้ “สจ.โต้ง” ต้องเสียชีวิตไป แต่ “สจ.จอย” ได้รับการสนับสนุนจากนายใหญ่พรรคเพื่อไทย ให้ลงสมัครนายก อบจ. ปราจีนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทย โดย “สจ.จอย” จับได้เบอร์ 4

ขณะที่คู่แข่ง ได้แก่ อำไพ กองมณี อดีต สส.บัญชีรายชื่อปราจีนบุรี พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 1 ส่วน จำรูญ สวยดี ลงสมัครในนามพรรคประชาชน ได้เบอร์ 2 และ กฤษณ์กมล แพงศรี อดีตผู้สมัคร สส.ปราจีนบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เบอร์ 3

สมุทรปราการ : ถือเป็นสนามใหญ่ที่ “บ้านใหญ่อัศวเหม” ต้องถอนแค้นจากศึกเลือกตั้งปี 2566 ที่เสียเก้าอี้ สส. ให้ “กระแสพรรคส้ม” กวาดเรียบยกจังหวัด ตัวแทนของบ้านใหญ่อัศวเหม คือ สุนทร ปานแสงทอง อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงสมัครในนามกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ได้เบอร์ 1 

ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือ นพดล สมยานนทนากุล ตัวแทนจากพรรคประชาชน จับได้เบอร์ 3

ชลบุรี : “บ้านใหญ่คุณปลื้ม” ส่ง วิทยา คุณปลื้ม อดีตนายก อบจ.ชลบุรี ลงในนามกลุ่มเรารักชลบุรี รอบนี้ เสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เชื่อมสัมพันธ์กับ “บ้านใหญ่คุณปลื้ม” ออกโรงสนับสนุน “วิทยา” 

ส่วนคู่แข่งคือ ชุดาภัค วสุเนตรกุล พรรคประชาชน จับได้เบอร์ 2

                                      ศึกชิง“นายก อบจ.” เจาะ 9 สนาม เดิมพันศักดิ์ศรี-สู้เดือด

“ทักษิณ”ทุ่มช่วย สว.ก๊อง

เชียงใหม่ : สนามนี้ นายใหญ่-ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศห้ามแพ้ โดยส่ง “สว.ก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ลงป้องกันแชมป์ในนามพรรคเพื่อไทย จับได้เบอร์ 2 

โดยคู่แข่งคือ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนวัตรรมแห่งชาติ จากพรรคประชาชน จับได้เบอร์ 1 ซึ่งได้แรงสนับสนุนจาก ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย อีกแรงหนึ่ง

เชียงราย : สนามภาคเหนืออีกสนาม ที่เป็นการเดิมพัน “บ้านใหญ่” สู้กันเอง โดย อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ แชมป์เก่า ลงสมัครในนามอิสระ จับได้เบอร์ 1 

ด้านคู่ชิง สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้ท้าชิงจากพรรคเพื่อไทย ภรรยา ยงยุทธ ติยะไพรัช คนสนิททักษิณ จับได้เบอร์ 2 
ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. เชียราย รอบนี้เป็นเดิมพันของ 2 ตระกูล โดยมีหลายตระกูลการเมืองสนับสนุนอยู่เบื้องหลังของแต่ละฝ่าย

“มาดามหน่อย”ชนเด็กประชาชน

นครราชสีมา : “บ้านใหญ่แป้งมัน” ส่ง มาดามหน่อย-ยลดา หวังศุภกิจโกศล ภรรยาของ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ลงป้องกันแชมป์ ในนามพรรคเพื่อไทย จับได้เบอร์ 2 

แม้คู่แข่งจากพรรคประชาชน จะไม่ส่งผู้สมัคร แต่มีชื่อของ มารุต ชุ่มขุนทด เจ้าของร้านกาแฟชื่อดัง ลงสมัครในนามอิสระ จับได้เบอร์ 3 โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า “มารุต” จะลงสมัครในนามพรรคประชาชน 

ศรีสะเกษ : สนามนี้ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศแพ้ไม่ได้ ส่ง วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีต สส.ศรีสะเกษ เขต 3 ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ลงชิงเก้าอี้ จับได้เบอร์ 1 สนามนี้ “เพื่อไทย” หมายมั่นจะเอาชนะให้ได้

โดยมีคู่แข่งเป็นแชมป์เก่า “บ้านใหญ่” วิชิต ไตรสรณกุล ตัวแทนกลุ่มฅนท้องถิ่น จับได้เบอร์ 7 

นครพนมสู้กันเดือดแน่

นครพนม : สนามนี้ถือเป็นเดิมพันอนาคตของ สหายแสง-ศุภชัย โพธิ์สุ อดีต สส.พรรคภูมิใจไทย หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง สส. ปี 2566 รอบนี้ส่งลูกสาว ศุภพานี โพธิ์สุ ลงสมัคร จับได้เบอร์ 2 
ส่วนคู่แข่งจากทีมฮักนครพนม เบียร์-อนุชิต หงษาดี ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย จับได้หมายเลข 8  โดยมี มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ของพรรคเพื่อไทย คอยให้การสนับสนุน

สงขลา“บ้านใหญ่”หนุนสุพิศ

สงขลา :  สุพิศ พิทักษ์ธรรม อดีตอธิบดีกรมฝนหลวง ถือเป็นตัวเต็ง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจาก “บ้านใหญ่สงขลา” ทั้ง เดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข และ นิพนธ์ บุญญามณี อดีต นายก อบจ.สงขลา จับได้เบอร์ 5

ส่วนคู่แข่งคือ นิรันดร์ จินดานาค จากพรรคประชาชน จับได้เบอร์ 2

ทั้งหมดคือ 9 สนามเลือกตั้ง นายก อบจ. ที่จะสู้กันอย่างดุเดือดแน่นอน ส่วนใครจะเข้าวิน-ไม่เข้าวิน อดใจรอวันที่ 1 ก.พ.นี้ มาลุ้นกัน... 

                          +++++++

“เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”กวาด
นายกอบจ.พรรคละ 10 เก้าอี้

สำหรับ นายก อบจ. ที่ลาออกก่อนครบวาระ และมีการเลือกตั้งไป เมื่อไล่เลียงดู พบเป็นตัวแทน พรรคภูมิใจไทย 10 จังหวัด พรรคเพื่อไทย 10 จังหวัด พรรคพลังประชารัฐ 3 จังหวัด พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 จังหวัด พรรคกล้าธรรม 1 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับเลือกตั้ง ดังนี้

ปี 2565 เลือกตั้ง 2 จังหวัด 

กาฬสินธุ์ : เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล พรรคเพื่อไทย 

ร้อยเอ็ด : เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ พรรคเพื่อไทย

ปี 2566 มีเลือกตั้ง 2 จังหวัด 

สระแก้ว : ฐานิสร์ เทียนทอง ในนามอิสระ (อดีตสส.พรรคพลังประชารัฐ) 

กาญจนบุรี : ประวัติ กิจธรรมกูลกิจ กลุ่มพลังกาญจ์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุน

ปี 2567 เลือกตั้ง 25 จังหวัด

เลย : ชัยธวัช เนียมศิริ พรรคเพื่อไทย-ภูมิใจไทยสนับสนุน

นครสวรรค์ : พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ พรรคภูมิใจไทย 

อ่างทอง : สุรเชษฐ์ นิ่มกุล พรรคภูมิใจไทย 

พะเยา :  ธวัช สุทธวงศ์ พรรคเพื่อไทย 

พระนครศรีอยุธยา : สมทรง พันธ์เจริญวรกุล พรรคภูมิใจไทย

ชัยนาท : จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา สนับสนุนโดย อนุชา นาคาศัย อดีตพรรครวมไทยสร้างชาติ

ชัยภูมิ : สุรีวรรณ นาคาศัย ลงอิสระ มีสายสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย

พิษณุโลก : มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ พรรคพลังประชารัฐ  

ราชบุรี :  วิวัฒน์ นิติกาญจนา พรรคกล้าธรรม

ปทุมธานี : พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง พรรคภูมิใจไทย

ชุมพร : นพพร อุสิทธิ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ

ยโสธร : วิเชียร สมวงศ์ พรรคเพื่อไทย 

ระนอง : สีหราช สรรพกุล พรรคภูมิใจไทย

อุทัยธานี : เผด็จ นุ้ยปรี พรรคภูมิใจไทย  

ขอนแก่น : วัฒนา ช่างเหลา พรรคเพื่อไทย

สุโขทัย : มนู พุกประเสริฐ พรรคเพื่อไทย 

สุรินทร์ : ธัญพร มุ่งเจริญพร พรรคภูมิใจไทย

นครศรีธรรมราช : วาริน ชิณวงศ์ พรรคภูมิใจไทย 

เพชรบุรี : ชัยยะ อังกินันทน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ

อุดรธานี : ศราวุธ เพชรพนมพร พรรคเพื่อไทย

กำแพงเพชร : สุนทร รัตนากร พรรคพลังประชารัฐ 

ตาก :  อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ พรรคภูมิใจไทย

เพชรบูรณ์ : อัครเดช ทองใจสด พรรคพลังประชารัฐ

อุตรดิตถ์ : ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา พรรคเพื่อไทย

อุบลราชธานี : กานต์ กัลป์ตินันท์ พรรคเพื่อไทย