มกราคม2568 เดือนแห่งความสุขของคนทั้งโลกหลังผ่านช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ยังไม่ทันจาง ภายในเดือนเดียวกันได้เข้าสู่เทศกาลตรุษจีน วาระแห่งการเฉลิมฉลองสู่การขึ้นปีใหม่ของชาวจีนทั่วโลก และเป็นหนึ่งในเทศกาลอันยิ่งใหญ่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า4,000ปี
โดยปีนี้ตรงกับวันที่29 มกราคม โดยเริ่มตั้งแต่ "วันจ่าย" เป็นวันก่อนวันไหว้หนึ่งวัน ตรงกับวันที่ 27 มกราคม ตามมาด้วย "วันไหว้" ตรงกับวันที่ 28 มกราคม และ "วันเที่ยว" หรือวันปีใหม่จีน ตรงกับวันที่ 29 มกราคม
ที่คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน มีความเชื่อ นอกจากถือศีลกินเจแล้ว ยังมักนิยม ในเรื่อง การไหว้ขอพรเทพเจ้า เสริมสิริมงคล ในการดำเนินชีวิต ทำมาค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง สุขภาพแข็งแรง เฮงๆปังๆ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพื้นที่และในประเทศ
เริ่มจาก “วัดไตรมิตร” หรือ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ วัดโบราณเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในยุดใด เมื่อก่อนนั้น จะมีชื่อว่า วัดสามจีน เพราะมีเรื่องเล่าว่ามีชาวจีน 3 คน ช่วยกันก่อสร้างวัดนี้ขึ้นมาอยู่คู่กับ ย่านเยาวราช พระทองคำใหญ่ที่สุดของโลก ทุกเทศกาลห้ามพลาด โดยเฉพาะที่นิมยมมากจะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ในแต่ละปีจะเห็นการเดินทางมาไหว้สักการะขอพรกันอย่างเนืองแน่น ไม่ขาดสายและว่ากันว่าต่างสมหลังกลับไปนั่นคือความอิ่มเอมใจ
ไม่ห่างกันมากจะเป็น “วัดมังกรกมลาวาส “หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ นักแสวงบุญมักมาขอพรเพื่อสิริมงคล สะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่เกิดปีชงในแต่ละปี
วัดเล่งเน่ยยี่ ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2414 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ด้วยกัน บางคนเรียกว่า วัดมังกร เพราะคำว่า “เล่ง” หรือ “เล้ง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัวและคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด ทำให้มีชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ วัดมังกรกมลาวาส ซึ่งได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึง วิหารท้าวโลกบาล ทั้ง 4 มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีน และถืออาวุธ สิ่งของต่างๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ โดยชาวจีนเรียกว่า ซี้ไต๋เทียงอ้วง หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ หรือเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ หรือ ซำป้อหุกโจ้ว
พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ อีกทั้งยังประดิษฐานเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ ไท้ส่วย เอี๊ยะ เทพเจ้าแห่งยา หรือหมอเทวดา หั่วท้อเซียงซือกง และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ ที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายสี กราบไหว้ขอพร อยู่คู่กับย่านเยาวราชมาช้านานเกือบ200ปี หลังมีชาวจีน เดินทางโดยทางเรือ ตั้งรกราก กลายเป็นชุมชนย่านการค้าขนาดใหญ่และสร้างความมั่งคั่ง แลนด์มาร์คระดับโลกมาจนถึงปัจจุบัน
"ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง" ตั้งอยู่ที่ 833 ซอยอิศรานุภาพ ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเคารพบูชา เป็นเทพเจ้าที่คุ้มครองรักษาชุมชนดั้งเดิม หรือเจ้าที่ของท้องถิ่นนั้นๆ ผู้คนนิยมไปกราบไหว้บูชา และขอพร ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ป้องกันภัยต่างๆ และการค้าเจริญรุ่งเรือง
"ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า" ตั้งอยู่ถนนเยาวราช แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ (ตั้งอยู่ริมถนนเยาวราช ตรงข้ามซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ) ประดิษฐาน เจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทานพร เป็นองค์ประธานในศาลเจ้า ซึ่งอันเชิญมาจากประเทศจีนตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 โดยผู้คนนิยมมาขอพรเจ้าแม่กวนอิมให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ปราศจากโรคภัย และมีสุขภาพที่แข็งแรง นั่นเอง
"ศาลเจ้ากวนอู" และ "เทพเจ้าม้า" ตั้งอยู่ที่ ตรอกโรงโดม ถนนเยาวราช ซอยอิสรานุภาพ (เยาวราช 11) กรุงเทพฯ (ตั้งอยู่ตรงตลาดเก่าเยาวราช) สำหรับ เทพเจ้ากวนอู เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ตามความเชื่อของคนจีน ทำให้ผู้คนมักจะไปขอพรในเรื่องหน้าที่การงาน ให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน มีบริวารที่ดี
"ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ" ตั้งอยู่ที่ เยาวราช ซอย 6 หรือ ตรอกอิสรภาพ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุกว่า 300 ปี ภายในศาลมีแท่นบูชา เล่งบ๊วยเอี๊ยะ หรือ เทพเจ้าหางมังกร เป็นประธาน พร้อมด้วย ฮูหยิน และทหารเอก ผู้คนนิยมมาขอพรในเรื่องของความมั่งคั่งทางการค้า ความก้าวหน้าในกิจการต่างๆ และกราบไหว้ เพื่อขอให้เลี้ยงลูกได้ง่าย สุขภาพแข็งแรง และเติบโตอย่างปลอดภัย
มาต่อกันที่ ขอพร เสริมดวง เพื่อสิริมงคล ตามแบบฉบับ ความเชื่อของจีน ด้วยการไปไหว้ขอพรกันที่ ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า หรือ ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ศาลเจ้าพ่อเสือ ปัดตัวสะเดาะเคราะห์ แก้ชง ขอพรโชคลาภ งานนี้ปังๆ กันถ้วนหน้า
ทั้งนี้ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า หรือที่ชาวจีนในไทยเราเรียกกันว่า ศาลตั่วเหล่าเอี้ย เป็นศาลเจ้าจีนสายลัทธิเต๋าที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงมากๆ อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยค่ะ ด้วยความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาว่า หากใครที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ อยากจะขอพรในเรื่องการงานให้ประสบความสำเร็จ เสริมอำนาจบารมี ให้ร่ำรวยเงินทองล่ะก็ ต้องมาไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าพ่อเสือ
อีกทั้งยังมีความเชื่อในเรื่องของ การแก้ชง โดยใครที่เกิดปีชง ก็จะต้องมาทำ พิธีปัดตัวสะเดาะเคราะห์ แก้ชง เสริมสิริมงคลกันอีกด้วย
ในสมัยอดีตนั้น วัดหัวลำโพง เดิมมีชื่อว่า “วัดวัวลำพอง” ค่ะ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระกฐินที่ วัดวัวลำพอง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ และพระราชทานนามว่า “วัดหัวลำโพง”
นี่คือส่วนหนึ่งของสถานที่ขอพรสำคัญๆ ที่คนจีน และคนไทยเชื่อสายจีน นิยมสักการะขอพรปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปเพื่อความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้แต่คนไทยแท้ก็เช่นกัน!!!