ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เฮ! รัฐเพิ่มเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน ค่าฟื้นฟูใหม่

10 ม.ค. 2568 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2568 | 10:57 น.

ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเฮ รัฐบาลไฟเขียวร่างกฎหมายใหม่ เพิ่มเงิน ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยยอมสูญรายได้รวม 277 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง การจ่ายเงินทดแทน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มเงินให้ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ทั้ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เสนอเรื่องขอให้คณะกรรมการแรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ปรับปรุงประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง การจ่ายเงินทดแทน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมาย มีดังนี้

ค่ารักษาพยาบาล

กำหนดให้ลูกจ้าง ซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลของทางราชการมีสิทธิ ได้รับค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนที่จ่ายจริง กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของเอกชน มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็น ตั้งแต่ 50,000 – 1,000,000 บาท

ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

สำหรับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ปรับเพิ่มขึ้น มีดังนี้

  • กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ไม่เกิน 24,000 บาท 
  • ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัด เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท 
  • ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท

ค่าทำศพ

  • กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพ จำนวน 3 เท่า ของค่าจ้างรายเดือน แต่ไม่น้อยกว่า 50,000 บาท

ค่าทดแทน

กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน แบ่งเป็น

  • กรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ ให้จ่ายค่าทดแทน ไม่เกิน 1 ปี
  • กรณีลูกจ้างสูญเสียอวัยวะ ให้จ่ายค่าทดแทนไม่เกิน 10 ปี
  • กรณีลูกจ้างทุพพลภาพ ให้จ่ายค่าทดแทน ตลอดชีวิต
  • กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้จ่ายค่าทดแทน 10 ปี

ทั้งนี้ค่าทดแทนดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่า 70% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดคูณด้วย 26 และไม่เกินเดือนละ 14,000 บาท

สำหรับประโยชน์และผลกระทบจากการเสนอร่างประกาศฉบับนี้ ทำให้ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจได้รับสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับ ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ เพิ่มมากขึ้น 

โดยในกรณีลูกจ้าง ซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน หากเข้ารับการรักษาพยาบาลของทางราชการ จะมีสิทธิได้รับ ค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนที่จ่ายจริง กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของเอกชนจะมีสิทธิได้รับ ค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ตั้งแต่ 50,000 – 1,000,000 บาท 

ส่วนค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา หรือการสูญเสียรายได้จากการปรับปรุงร่างประกาศฉบับนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้สำหรับปี พ.ศ. 2567 รวมทั้งสิ้น 277.36 ล้านบาท แยกเป็น ค่าทดแทน 188,017,020 บาท ค่ารักษาพยาบาล 80,166,281 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน 1,400,000 บาท และค่าทำศพ 7,780,607 บาท

อย่างไรก็ตามที่ประชุมครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน รับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย