ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผย ทิศทางตลาดแรงงาน และการจ้างงาน ปี 2568 ว่า ข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 ตลาดแรงงานประกอบด้วยแรงงานประมาณ 22 ล้านคน โดยร้อยละ 54.8 หรือจำนวน 12.067 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) สถานประกอบการธุรกิจเอกชนมีจำนวนประมาณ 912,297 กิจการ ลดลงเล็กน้อยจากต้นไตรมาส 2 ขณะที่ภาคการผลิตจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 72,599 แห่ง
สถานประกอบการในตลาดแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อยรวมกันประมาณร้อยละ 98.34 และขนาดกลางประมาณร้อยละ 1.5 ขณะที่บริษัทมหาชน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.16 ของสถานประกอบการทั่วประเทศ มูลค่าการจ้างงานประมาณ 6.5458 ล้านล้านบาทหรือสัดส่วนร้อยละ 35.6 ของ GDP
ดร.ธนิต กล่าวว่า ตลาดแรงงานมีนัยปฏิสัมพันธ์กับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก การพยากรณ์เสถียรภาพการทำงานรวมถึงการหางานของผู้ที่จบการศึกษาใหม่จึงเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ปี 2568 ประเมินว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 จากที่ขยายตัวในปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 2.6
ตัวเลขนี้บอกเป็นนัยว่าการจ้างงานในตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว อัตราการว่างงานของสนง.สถิติแห่งชาติช่วงปลายปีที่ผ่านมาอยู่ในอัตราร้อยละ 0.9 – 1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำมีผู้ว่างงานประมาณ 3.83 แสนคน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.4 เป็นผู้ว่างงานใหม่ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จบระดับอุดมศึกษา
ขณะที่การว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ 1.68 ที่น่าสนใจคืออัตราการเลิกจ้างในเดือนพฤศจิกายน จำนวน 39,714 คน สูงสุดในรอบ 5 เดือน
ปัจจัยเอื้อที่มีผลต่อการจ้างงานและความมั่นคงในการทำงานประกอบด้วย ปัจจัยแรกการส่งออก ในปีที่ผ่านมาการส่งออกเชิงเหรียญสหรัฐสูงสุดเป็นประวัติการณ์ประมาณ 300,832.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.14 หากเป็นสกุลเงินบาทขยายตัวร้อยละ 7.3 เป็นการขยายตัวเชิงบวกทั้งในภาคเกษตร -เกษตรแปรรูป-ภาคการผลิต
ปัจจัยที่สอง การท่องเที่ยว กลับมาฟื้นตัวรายได้รวมประมาณ 2.62 ล้านล้านบาท เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 25.54 ล้านคนเป็นรายได้ประมาณ 1.573 ล้านล้านบาท
ปัจจัยที่สาม การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนของไทยกลับมาขยายตัวคาดว่าอาจขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3
ทั้งนี้ปัจจัยเอื้อที่กล่าวล้วนมีผลต่อการสร้างงานและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนแต่มีการประเมินว่าอาจขยายตัวของการบริโภคเอกชนยังขยายตัวได้ไม่ได้ดีนักประมาณร้อยละ 2.7 จากที่ขยายตัวในปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.4 (ใช้ค่าเฉลี่ยของธปท.และกระทรวงการคลัง)
ปัจจัยที่น่าจะมีผลต่อการจ้างงานในปี 2568 ให้น้ำหนักไปที่การลงทุน ซึ่งอาจเป็นปีทองของการลงทุนของไทย ตัวชี้วัดสะท้อนได้จากคำขอการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในปีที่ผ่านจากการประเมินอาจสูงถึง 9.232 แสนล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 42 สูงสุดในรอบ 10 ปี
โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ FDI หากเป็นโครงการร้อยละ 66 และเชิงมูลค่าสัดส่วนร้อยละ 75 ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.57 เป็นการลงทุนในพื้นที่ EEC ประเทศที่ลงทุน 5 อันดับแรกได้แก่ สิงคโปร์ ตามมาด้วยจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สำหรับประเทศญี่ปุ่นการลงทุนสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ 4.9
ขณะที่ BOI อนุมัติบัตรส่งเสริมจำนวนประมาณ 2,600 กิจการ มูลค่าประมาณ 8.588 แสนล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 101 ทาง BOI แจงว่าอาจทำให้มีการจ้างงานในปีนี้และปีหน้าประมาณ 1.72 แสนตำแหน่งและทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท
ตัวเลขการลงทุนของ BOI ข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้าปี 2567 (เชิงดอลลาร์สหรัฐ) พบว่าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 9.6 เทียบกับปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.2 สูงสุดนับตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการผลิตขยายตัวร้อยละ 11.6 จากที่หดตัวในปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.7 และสินค้าอุปโภค-บริโภคขยายตัวร้อยละ 6.0 เทียบกับปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1.56
ข้อมูลนี้เป็นสัญญาณเชิงบวกต่อตลาดแรงงานการจ้างงานในภาพรวมภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดี เป็นผลจากการส่งออกที่ปีนี้ยังคงขยายตัวได้ แม้จะมีความเสี่ยงจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจะทำให้มีการจ้างงานได้มากขึ้น สะท้อนจากแรงงานในภาคการผลิตในช่วงปลายที่ผ่านมาสูงสุดในรอบ 5 เดือน
สำหรับคลัสเตอร์ในภาคการผลิตที่ยังหดตัวและมีผลต่อความเสี่ยงการจ้างงาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร อุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเหล็ก การผลิตเม็ดพลาสติก การผลิตจักรยานยนต์ ฯลฯ
ด้านการจ้างงานภาคค้าปลีก-ค้าส่ง ยังอยู่ในระดับทรงตัวโดยได้รับอานิสงค์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปีนี้อาจทะลุ 39 ล้านคน ซึ่งแรงงานที่อยู่ในภาคส่วนนี้มีจำนวนประมาณ 3.31 ล้านคน การจ้างงานในภาคโลจิสติกส์และขนส่ง ซึ่งมีแรงงานประมาณ 1.55 ล้านคนยังอยู่ในภาวะทรงตัว
ส่วนการจ้างงานของภาคก่อสร้าง ซึ่งมีแรงงานประมาณ 1.98 ล้านคน จากปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้บ้านและคอนโดอยู่ในระดับสูงทำให้การจ้างงานในภาคส่วนนี้ ยังคงหดตัวอุปทานของแรงงาน
จากข้อมูลของ “JobThai” ซึ่งมีผู้ที่ต้องการหางานหรือเปลี่ยนงานมาโพสต์จำนวน 2.519 ล้านคน พบว่า งานที่มีผู้ต้องการหางานหรือเปลี่ยนงานส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะงานประเภทธุรการหรืองานประสานงาน ซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางมีผู้ต้องการหางานถึงร้อยละ 29
ตามมาด้วยงานในภาคการผลิตร้อยละ 16.8 งานขายของที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานบริหารการตลาดสัดส่วนร้อยละ 9.2 พนักงานบัญชีและงานที่เกี่ยวข้องสัดส่วนร้อยละ 9.6 งานบุคคล-ทรัพยากรมนุษย์ ร้อยละ 8.1 งานเกี่ยวกับโลจิสติกส์สัดส่วนร้อยละ 7.4 ฯลฯ
แหล่งที่อยู่ของผู้ต้องการหางานส่วนใหญ่อยู่ในกทม.และปริมณฑล สัดส่วนร้อยละ 50.6 ภาคตะวันออก สัดส่วนร้อยละ 16.5 โดยร้อยละ 89.6 กระจุกอยู่ในพื้นที่ EEC แหล่งที่อยู่ของผู้ต้องการหางานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสัดส่วนร้อยละ 12.14 ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี
สำหรับภาคเหนือสัดส่วนร้อยละ 8.12 ส่วนใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก ขณะที่ภาคใต้สัดส่วนเพียงร้อยละ 4.7 ส่วนใหญ่อยู่ที่สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต
ผู้ที่ต้องหางานและเปลี่ยนงาน ซึ่งปัจจัยอาจมาจากการว่างงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา โดยเฉพาะแรงงานว่างงานใหม่ซึ่งมีประมาณ 2.03 แสนคน ส่วนใหญ่พบว่าจบระดับปริญญาตรีและสูงกว่าสัดส่วนร้อยละ 74.5 ตัวเลขที่น่าสนใจคือแรงงานวัยตอนต้นอายุ 20 – 25 ปี มีผู้โพสต์หางานสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.1 ของผู้หางานทั้งหมด เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำปัจจัยส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงงานรุ่นใหม่ไม่นิยมทำงานหรือชอบงานอิสระ
ขณะที่กลุ่มแรงงานที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 26 แสดงให้เห็นว่า แรงงานกลุ่มนี้อาจขาดความมั่นใจในสถานประกอบการที่ตัวเองทำงานว่ามีความยั่งยืนหรือมั่นคง ตลอดจนอาจเป็นกลุ่มว่างงานแฝง
ตลาดแรงงานปี 2567 ถึงแม้จะมีกระแส “Trump Disruption” รวมถึงการปิดโรงงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุค 2.0 แต่การเปิดกิจการใหม่ก็เพิ่มขึ้น ตลอดจนดัชนีชี้วัดการลงทุนผ่าน BOI และการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบทศวรรษ การจ้างงานและเสถียรภาพอาจอยู่ในภาวะทรงตัว
ที่น่ากังวลคืออุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งเป็นประเภทใช้เครื่องสันดาปภายใน (ICE : Internal Combustion Engine) ซึ่งมีแรงงานมากกว่า 4.4 แสนคนกำลังอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านจะรับมืออย่างไร
การพยากรณ์ทิศทางการจ้างงานจำเป็นจะต้องเห็นภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าและบริการระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูงประมาณร้อยละ 1.31 เท่าของ GDP การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกรวมถึงความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การยุติสงครามยูเครน-รัสเซียหรือสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและอิหร่าน
ด้านปัจจัยภายในเกี่ยวข้องกับการบริโภคของภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นนัยกับสภาพคล่องและกับดักหนี้ครัวเรือนไปจนถึงหนี้ธุรกิจ
นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายมหภาคเกี่ยวข้องกับมาตรการทางการเงินและการคลังที่มีข้อจำกัดค่อนข้างสูง รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุน โดยมีสัดส่วนอยู่ใน GDP ประมาณร้อยละ 58 และร้อยละ 17.3 ตามลำดับ
ดร.ธนิต กล่าวว่า ปัจจัยที่กล่าวล้วนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการจ้างงานของตลาดแรงงาน สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติได้จัดทำสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นการจ้างงานในช่วงปลายปีพ.ศ. 2567 เป็นการสอบถามนิติบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างจำนวน 823 กิจการครอบคลุม 31 จังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ พบว่า ความเชื่อมั่นการจ้างงานส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการเอกชนเชื่อมั่นว่า จะทรงตัวเท่ากับปีที่ผ่านมา สัดส่วนร้อยละ 52.8 และที่ตอบว่าการจ้างงานจะลดลงสัดส่วนร้อยละ 24.2 ที่เหลือเชื่อมั่นจะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลนี้คงจะประมาณการณ์ถึงสภาวะการจ้างงานของตลาดแรงงานของปี 2568 ได้ในระดับหนึ่ง