ลุ้น “ค้าปลีก” ไตรมาส 4 โตก้าวกระโดด หลังปัจจัยบวกเพียบ

14 ส.ค. 2565 | 21:56 น.

ชี้ทิศค้าปลีกไตรมาส 4 ส่งสัญญาณดี ลุ้นเติบโตก้าวกระโดดตามตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศของภาครัฐ ขณะที่ไตรมาส 2 ฟื้นตัวแบบ K-Shaped จากกลุ่มห้าง แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ที่กลับมาเปิดได้

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในครึ่งปีแรกจะมีสัญญาณบวก แต่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน โดยพบว่าในไตรมาสแรก แม้จะมีโครงการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งโครงการอุดหนุนสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ โครงการคนละครึ่งแต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก การเติบโตจึงไม่สดใสนัก ขณะที่ไตรมาส 2 เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการที่รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโลก และเปิดประเทศ การฟื้นตัวจึงอยู่ในรูปของตัว K หรือ K-Shaped

              

หมายถึงการฟื้นตัวที่ขาดสมดุล คือ มีส่วนที่ฟื้นตัวชัดเจน และอีกส่วนยังไม่ฟื้นตัวหรือทรงตัว โดยห้างสรรพสินค้า แฟชั่น ความงาม ไลฟ์สไตล์และภัตตาคาร ร้านอาหาร ซึ่งเติบโตตามกระแสการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ส่วนไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มฐานกลางลงล่าง กำลังซื้อยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง และยังคงต้องพึ่งมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก

ลุ้น “ค้าปลีก” ไตรมาส 4 โตก้าวกระโดด หลังปัจจัยบวกเพียบ               

อย่างไรก็ดีในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟู แต่ก็ยังคงมีความเปราะบางจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งอัตราดอกเบี้ย ภาวะหนี้ ราคาน้ำมันแพง โควิด รวมถึงสงคราม ขณะที่ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวและกำลังซื้อยังไม่กลับมามากนัก ทั้งนี้คาดว่ารัฐบาลคงเลือกที่จะกดเงินเฟ้อโดยปล่อยให้ดอกเบี้ยเพิ่มสูง ซึ่งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและกำลังซื้อฐานรากที่มีสัดส่วนกว่า 70-80% ก็ยิ่งอ่อนแอลง

 

ดังนั้นการที่ภาครัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านบัตรสวัสดิการต่างๆ โครงการ“คนละครึ่ง รวมไปถึงการเปิดประเทศ และการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว จะทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อซึ่งมีสัดส่วนอยู่ราว 20-30% ออกมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินไหลสู่ระบบมากขึ้นตามไปด้วย

              

“หลายอย่างจะเริ่มเข้าสู่สมดุล ทั้งเงินเฟ้อ ค่าเงิน ซึ่งเดือนสิงหาคม จะยังดุเดือด ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน ทำให้ภาพรวมในสองเดือนนี้ยังทรงตัว แค่พยุงตัวเองได้ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น หากท่องเที่ยวดีแบบก้าวกระโดด ก็จะทำให้ภาคค้าปลีกดีตามไปด้วย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ต้องดูแลสภาพคล่องให้ดี และในไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นกิจกรรมต่างๆ กลับมา เพราะวันนี้ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร คอนเสิร์ต เริ่มกลับมาคึกคัก ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวก็เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น บรรยากาศต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้น”

ลุ้น “ค้าปลีก” ไตรมาส 4 โตก้าวกระโดด หลังปัจจัยบวกเพียบ               

ด้านนายศุภวุฒิ ไชยประสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตและฟู้ด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อมีผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น จากต้นทุน วัตถุดิบ หรือค่าขนส่ง รวมถึงเงินในมือผู้บริโภคที่มีความสามารถในการซื้อที่น้อยลง และส่งผลในเรื่องการผลิตในอนาคต ในแง่การใช้จ่าย มีผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น และคำนึงในเรื่องปริมาณการซื้อ จากแต่ก่อนอาจมีการซื้อสต็อกไว้ แต่ปัจจุบันซื้อเพียงพอกับการใช้ หรือต้องมีโปรโมชั่นแรงๆ ที่ลดมากกว่าเดิม จึงจะจูงใจลูกค้าได้

              

“โดยทั่วไป ความถี่ในการซื้อและปริมาณซื้อลดลง แต่ภาพของ Gourmet Market มีการซื้อต่อครั้งที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ตัวเงินและจำนวนของสินค้า โดยลูกค้าเน้นสินค้าที่จำเป็น แต่สินค้าที่เป็น lifestyle หรือ impulse ก็ไม่ได้ลดลง”

ลุ้น “ค้าปลีก” ไตรมาส 4 โตก้าวกระโดด หลังปัจจัยบวกเพียบ               

อย่างไรก็ดีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป มาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.สภาพเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาวัตถุดิบ น้ำมัน หรือค่าขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 2.ความไม่แน่นอนของอนาคต ส่งผลให้มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย การออม และหนี้ 3.ผลกระทบต่อเนื่องจากโควิดที่ส่งผลเป็นลูกโซ่ ในช่วง 2ปีที่ผ่านมา

              

“การเพิ่มมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งเงินอุดหนุนสวัสดิการของรัฐ คนละครึ่ง การควบคุมราคาสินค้า คาดว่าจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายได้บ้าง แต่เป็นแค่ระยะสั้น และไม่ได้เกิดจากการแก้ปัญหาของโครงสร้างหลัก เป็นแค่การพยุงสถานการณ์ไม่ให้แย่ลง ซึ่งขณะนี้ยังประเมินได้ยากว่า ภาพรวมครึ่งปีหลัง การใช้จ่ายจะกลับมาคึกคักหรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์และประเมินแบบเดือนต่อเดือน แต่มีการวางแผนรองรับและโปรแกรมสำหรับกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งมีสัญญาณเชิงบวกในการจับจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น”