นับเป็นอีกก้าวที่น่าจับตามองสำหรับวงการอาหารบริการด่วนหรือ QSR เมื่อผู้เล่นเบอร์ต้นอย่าง “แมคโดนัลด์” มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารสำคัญหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ การผลักดัน “กิตติวรรณ อนุเวชสกุล” ที่ปรึกษาทางการตลาดขึ้นมานั่งตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO หญิงคนแรกของแมคโดนัลด์ไทย โดยได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตตลอด 37 ปีผู้บริหารแมคโดนัลด์ไทยล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม “กิตติวรรณ” เคยร่วมงานกับแมคโดนัลด์ไทย มาถึง 2 ครั้งรวมแล้วกว่า 10 ปีตั้งแต่ยุคสมัยของ “เดช บุลสุข” ผู้ก่อตั้งแมคโดนัลด์ในประเทศไทย ก่อนถอยออกมาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโฆษณา และเป็นที่ปรึกษาทางการตลาดมามากกว่า 7 ปี จากนั้นกลับสู่ครอบครัวแมคไทยอีกครั้งในฐานะที่ปรึกษา จนปัจจุบันได้รับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร
นางสาวกิตติวรรณ อนุเวชสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้นำคนใหม่ของแมคโดนัลด์ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความท้าทาย และเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับ แมคโดนัลด์ไทย และเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้แบรนด์แมคโดนัลด์ เป็นผู้นำธุรกิจ QSR อย่างแท้จริงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจะเจอโควิดอย่างหนักหนาแต่แมคโดนัลด์ยังแข็งแกร่ง
เพราะมีแพลตฟอร์มที่ดีโดยสามารถทำให้บริการเดลิเวอรี่เติบโตเป็นประวัติศาสตร์คือเติบโตกว่า 232% อีกส่วนหนึ่งคือไดร์ฟทรูที่เติบโตต่อเนื่อง 34% และส่วนสุดท้ายคือดิจิทัลซึ่งแมคฯ มีแพลตฟอร์มโมบายแอพพลิเคชั่นที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ง่ายขึ้น ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมาแมคฯ สามารถสร้างยอดขายเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แมคฯ ก็ยังไม่หยุดนิ่ง มีการใช้ innovation ในเมนูใหม่ๆ ให้แปลกใหม่ ถูกปากถูกใจคนไทยและสร้างยอดขายที่ดี รวมทั้งและการนำเสนอความคุ้มค่า คุ้มราคาอย่างต่อเนื่องทำให้ลูกค้าเข้าร้านบ่อยขึ้น และการรีโนเวทสาขาให้ทันสมัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้ชีวิตในร้านมากขึ้น
“การกลับมาร่วมงานกับแมคฯ ครั้งนี้ น่าจะเป็นการกลับบ้านในรอบ 10 ปี เราเข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางการตลาดตั้งแต่ปี 2019 และแต่งตั้งขึ้นเป็น CEO เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังเข้ามานั่งในตำแหน่งบริหาร วิชันใหญ่ของบริษัทไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเรามีความมุ่งมั่นที่เราจะเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง แต่วิชันส่วนตัวด้วยความที่เราเป็นลูกหม้อมาก่อน เราจะเน้นการทำงานด้วยยความสนุก เราจึงปลุกเร้าให้น้องๆมีความสนุกและมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น
ปีนี้ผ่านมาแล้ว 7 เดือนและเป็น 7 เดือนที่สนุกสนานเรายังมุ่งมั่นและอยู่ในสถานการณ์ที่ดีเพราะการเปลี่ยนแปลงยังสามารถสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และแม้ลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากค่าครองชีพที่สูงแต่ลูกค้าก็ยังทานรับประทานอาหารอย่างต่อเนื่อง และแมคโดนัลด์ยังเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ายังชื่นชอบ”
ทั้งนี้ ผู้บริหารยังเปิดเผยถึงทิศทางของ แมคโดนัลด์ไทยหลังจากนี้โดยมีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อผลักดันให้แมคโดนัลด์ กลายเป็นผู้นำแบรนด์ QSR ของเมืองไทย โดยกำหนด 4 กลยุทธ์คือ
1. การส่งมอบอาหารคุณภาพดี และมีความปลอดภัยสูงสุด (Food Quality & Safety) โดยโฟกัสพื้นฐานคุณค่าของแบรนด์คือ QSC ในปีนี้เราทำระบบใหม่เรียกว่า Digital Food Safety เพื่อทำให้การตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้มาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาดสูงสุด เก็บข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยจะติดตั้งให้ครบทุกสาขาภายในสิ้นปีนี้
2. Menu Innovation & Brand Affordability เราตั้งเป้าให้คนเข้ามาใช้บริการในร้านมากขึ้น 3 เท่า โดยพัฒนาเมนูทั้งเมนูหลักและเมนูใหม่ให้มีคุณภาพดี รสชาติอร่อย และมีความโดดเด่นแตกต่างจากแบรนด์อื่นเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการตั้งราคาที่เหมาะสมและการจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป
3. สร้างประสบการณ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เหนือกว่าแบรนด์ร้านอาหาร QSR ทุกแบรนด์ ด้วย EotF-Experience of the Future ได้แก่ บริการเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะ (Table Service), GEL ผู้ช่วยบริการลูกค้าในร้าน และใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก เช่น บริการเครื่องสั่งอาหารด้วยตนเอง (Self-Ordering Kiosk: SOK) , บริการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless Payment) รวมทั้งการขยายสาขาและรีโนเวทสาขาอย่างต่อเนื่อง
4. Digital Transformation & Omnichannel เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ แมคโดนัลไทย แข็งแกร่งอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างการเติบโตทางด้านยอดขายอย่างต่อเนื่องแล้ว ปีนี้ยังจะนำเสนอส่วนนี้และสร้างให้เป็นSeamless experience เพื่อให้ลูกค้าใช้บริการได้ครบวงจร นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับ Deliveryและ Drive-thru ต่อเนื่อง
“เรามั่นใจว่าด้วยกลยุทธ์ทั้งหมดที่เราสร้างจะทำให้แบรนด์ของเราแข็งแกร่งขึ้นและเติบโตขึ้น สำหรับปีนี้เราแพลนที่จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งครึ่งปีที่ผ่านมาเราค่อยๆตื่นตาตื่นใจกับการเติบโตของธุรกิจนี้ เราเปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 4 สาขาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งสาขาสระบุรี 1สาขาและสุวรรณภูมิ 3 สาขา และอีก 5 เดือนที่เหลือเราแพลนขยายสาขาเพิ่ม 2-3 สาขา
โดยจะเลือกโลเคชั่นที่ดีตอบสนองความลูกค้าและมีโอกาสใหม่ๆให้กับเรา เพราะเรายังมองเห็นโอกาสอย่างต่อเนื่อง โดย 7 เดือนที่ผ่านมาเราเติบโตกว่า 30% และเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายสูงที่สุดเทียบเท่าก่อนโควิดเรียบร้อยแล้ว ครึ่งปีที่เหลือเรายังมีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้นและเราก็อยากที่จะจบปีด้วยตัวเลขที่สวยหรู”
อย่างไรก็ตามในปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในประเทศไทยมีมูลค่าราว 3.6 แสนล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อนหน้าซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 4.04 แสนล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ร้านอาหารถูกจำกัดด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ขณะที่มูลค่าตลาดร้านอาหารบริการด่วน หรือ QSR มีมูลค่าราว 4.5-5 หมื่นล้านบาทโดยเซ็กเม้น์ ไก่ทอดยังเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าตลาด 28,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นพิซซ่า 12,000ล้านบาทและเบอร์เกอร์ 10,000 ล้านบาท
จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ผลประกอบการของแมคโดนัลด์ในไทยภาพรวมรายได้ธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 3,700 ล้านบาท
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565