‘มอร์มีท’ รุกตลาดสิงคโปร์ พร้อมพัฒนาโปรตีนทดแทนจากพืชชนิดอื่นเพิ่ม

16 ก.ย. 2565 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2565 | 13:54 น.

‘มอร์มีท’ เปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศ ประเดิมเปิดตลาดประเทศสิงคโปร์ ก่อนปักเป้าเวียดนาม และอินโดนีเซีย ในสเต็ปต์ต่อไป พร้อมลุยพัฒนาโปรตีนทดแทนจากพืชชนิดอื่นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด

 ‘มอร์มีท’ 1 ใน 3 ผู้ผลิตโปรตีนทดแทนจากพืช “รูปแบบบด” ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดถึง 30 – 40 % เพิ่มกำลังการผลิตผ่านการปลูกเห็ดแครง 100 ครัวเรือน ส่งเสริมรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรภาคใต้ มีช่องทางทำกินนอกจากการกรีดยาง พร้อมปั้นแพลนต์เบสทางเลือกจาก “ข้าวไทย” และ “น้ำต้มเห็ดแครง” เพิ่มมูลค่าผลผลิตรับเทรนด์การกินเพื่อสุขภาพ ควบคู่รุกขยายฐานผู้บริโภคโปรตีนทางเลือกในต่างประเทศปักหมุดที่แรก “สิงคโปร์”  ก่อนขยายสู่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และสามยักษ์ใหญ่เอเชียตะวันออก “จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้”

นายวรกันต์ ธนโชติวรพงษ์

นายวรกันต์ ธนโชติวรพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาแพลนต์เบสแบรนด์ “มอร์มีท” (MORE MEAT) เปิดเผยว่าในช่วงปี 2564 ถึงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช หรือแพลนต์เบสมีการเติบโตค่อนข้างมาก ธุรกิจใหญ่หลายรายเริ่มหันมาสนใจผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ อาหารแปรรูป รวมไปถึงเครื่องดื่ม สอดคล้องกับผู้บริโภคเองก็เริ่มมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหลังวิกฤตการณ์โรคระบาด เกิดกระแสการเลือกรับประทาน และเทรนด์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือ Green Lifestyle จึงทำให้ตลาดแพลนต์เบสได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย 

ทั้งนี้ในส่วนของมอร์มีทก็มียอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมีปัจจัยหลักจากการพัฒนางานวิจัย การสร้างสรรค์สินค้าตามความนิยมรับประทานของผู้บริโภค คุณภาพสินค้าที่ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งฐานลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดอย่างรสชาติ รสสัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริง และการนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู

‘มอร์มีท’ รุกตลาดสิงคโปร์ พร้อมพัฒนาโปรตีนทดแทนจากพืชชนิดอื่นเพิ่ม

“จากการดำเนินธุรกิจมากว่า 3 ปี ปัจจุบันมอร์มีทมีผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชในลักษณะบดเป็นสินค้าเพียงชิ้นเดียวของแบรนด์ ซึ่งหากนำสินค้าในกลุ่มเดียวกันมาเทียบ มอร์มีทถือเป็น 1 ใน 3 ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด นับเป็น 30-40 % ของตลาด ทั้งยังมีการพัฒนาสินค้าโดยอาศัยเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเราเพิ่งจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นโปรตีนทางเลือกจากพืชในลักษณะบดที่ยังคงคุณค่าทางโภชนการ แต่เป็นสูตรที่ไม่มี กลูเตน โซเดียมต่ำ และไฟเบอร์สูงซึ่งเหมาะกับผู้รักสุขภาพ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าใหม่ๆ และลูกค้าเดิมที่มีอัตราการกลับมาซื้อซ้ำสูงเช่นกัน”

การดำเนินธุรกิจของมอร์มีทที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญมาจากการควบคุมคุณภาพตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้น อย่าง “เห็ดแครง” ซึ่งเพาะปลูกโดยเกษตรกรจากภาคใต้ในจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี โดยเห็ดแครงเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงมากกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ มีผิวสัมผัสที่หนึบสู้ฟันเหมาะสมกับการทำแพลนเบสต์ มีไฟเบอร์ และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันซึ่งในการเลือกใช้เห็ดแครงนอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ที่แน่นอนให้กับกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ที่แต่เดิมทำเพียงสวนยางพารา แต่ในการปลูกเห็ดแครงก็สามารถทำได้ควบคู่กับการกรีดยางไปด้วย จึงทำให้เกษตรกรมีช่องทางในการทำเงินที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากจุดเริ่มต้นได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรสวนยางประมาณ 10 ครัวเรือน แต่ด้วยการเติบโตของผลิตภัณฑ์ปัจจุบันจึงได้ขยายการรับซื้อเป็น 30 ครัวเรือน และแผนในปี 2565 – 2566 นี้ มอร์มีทจะเพิ่มประเภทของผลิตภัณฑ์โปรตีนทดแทนจากพืชสู่ตลาดซึ่งทำให้ความต้องการเห็ดแครงมีมากขึ้นกว่า 4 เท่า จึงมีแผนที่จะประสานกับผู้นำเกษตรชุมชนในพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกเห็ดแครง และการควบคุมคุณภาพเพื่อมาเป็นวัตถุดิบซึ่งคาดว่าน่าจะเพิ่มการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อีกนับ 100 ครัวเรือน

‘มอร์มีท’ รุกตลาดสิงคโปร์ พร้อมพัฒนาโปรตีนทดแทนจากพืชชนิดอื่นเพิ่ม

นอกจากนี้ มอร์มีทยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนาโปรตีนทดแทนจากพืชชนิดอื่น เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด และคุณประโยชน์ทางโภชนาการที่มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆเพิ่มเติม โดยทีมวิจัยและพัฒนาได้ทำการวิจัยการสกัดโปรตีนจากข้าว รวมถึงการศึกษาสารอาหาร แร่ธาตุ และ วิตามิน ที่หลงเหลือจาก น้ำต้มเห็ดแครง ระหว่างกระบวนการผลิตโปรตีนจากพืชของ MORE MEAT เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าอื่นต่อไป คาดว่าน่าจะมีผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชใหม่ของมอร์มีทวางขายในท้องตลาดช่วงปลายปีนี้

 

“ก่อนหน้านี้เห็ดแครงไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก แต่หลังจากที่เราเลือกใช้พืชชนิดนี้มาเป็นวัตถุดิบ ก็ทำให้กระแสการบริโภคเห็ดแครงมากขึ้นจนขึ้นเป็นอันดับต้นๆของโปรตีนทางเลือก เกษตรกรเองก็สามารถสร้างรายได้มากขึ้น และอาจจะกลายเป็นรายได้หลักในภาวะที่ราคายางยังตกอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เกษตรกรสวนยางก็สามารถใช้เห็ดแครงทำรายได้ ไม่เพียงแค่การส่งเป็นวัตถุดิบให้กับมอร์มีท แต่ยังสามารถส่งเป็นวัตถุดิบให้กับธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการขายเป็นเห็ดแครงสดให้กับผู้บริโภคโดยตรงได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้มองว่าการสนับสนุนเกษตรกรทั้งจากทางภาครัฐ และเอกชนเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโปรตีนทดแทนได้ ก็จะช่วยส่งเสริมภาคการเกษตรให้มีรายได้มากขึ้น และในฐานะที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก เพราะเรามีองค์ประกอบที่ดีทั้งความเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหาร รสชาติที่คนทั่วโลกยอมรับ รวมไปถึงคุณภาพการผลิต การจะผลักดันให้อาหารแพลนต์เบสเป็นหนึ่งในตัวนำทัพครัวไทยสู่ครัวโลกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็สามารถทำได้ไม่ยาก”

 

นอกจากตลาดในประเทศ บริษัทยังมีแผนขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอาเซียน เนื่องด้วยกระแสการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ไม่ได้เติบโตแค่ในประเทศ โดยในปี 2565 – 2566 จะเริ่มที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องด้วย 2 ปัจจัยหลักคือ 

1. ผู้บริโภคสิงคโปร์มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีกำลังซื้อสูง      

 

2. หากตีตลาดสิงคโปร์ได้สำเร็จก็จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สามารถเปิดตลาดใหม่ในประเทศอื่นได้ง่าย

 

อีกทั้งมอร์มีทยังมีหลักการสำคัญที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ได้ผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดซึ่งเป็นสิ่งที่ทางสิงคโปร์ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากสิงคโปร์เพื่อนำสินค้าไปวางจำหน่าย และก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ซึ่งจุดหมายต่อไปคือการขยายตลาดไปที่เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนในระดับโลกมีแผนที่จะเริ่มที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

“ในระยะยาวเรามองถึงยอดขายที่สูง และการมีส่วนแบ่งตลาดที่มากอยู่แล้ว แต่ในเบื้องต้นเราเน้นการทำการตลาดในสิงคโปร์โดยการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของการเลือกบริโภคโปรตีนทางเลือก ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ จึงทำให้สินค้าของมอร์มีทเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคในสิงคโปร์ แผนขั้นต่อไปคือการส่งออกไปยังเวียดนาม และอินโดนีเซีย เพราะทั้งสองประเทศนี้มีอัตราผู้ที่เคยบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชสูงมากถึง 86% และ 73% ตามลำดับ แต่ยังมีตัวเลือกสำหรับการซื้อไม่มากนัก จึงน่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดีมากสำหรับการส่งออก

 

และหลังจากนั้นก็น่าจะมุ่งสู่ระดับเอเชียซึ่งมองไว้ว่าเป็นประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งมีวัฒนธรรมทางอาหารที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีแหล่งชุมชนขนาดใหญ่อยู่ในประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลก ถ้าหากสามารถสร้างการรับรู้และเลือกใช้โปรตีนทางเลือกจากพืชของมอร์มีทให้กับทั้งสามประเทศนี้ได้ ก็ไม่ยากที่จะขยายตลาดไปสู่ระดับสากล”

 

สำหรับในประเทศไทย ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 อาจจะได้เห็นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชโดยมอร์มีทและพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกบูธ หรือกิจกรรมวิ่งมาราธอนที่มอร์มีทร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์จัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนพันธมิตรทางธุรกิจก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้วัตถุดิบจากมอร์มีท ออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่าง ‘กระเพราไบท์’ ผลิตภัณฑ์ของ V-Farm มีวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลกินเจนี้ และในปลายเดือนนี้ทางมอร์มีทเองก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่วางจำหน่ายเช่นเดียวกัน