"ความมั่นคงทางด้านอาหาร” กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในเวทีโลกอันเป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรราว 7,700 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9,700 ล้านคนในปี 2050 และอาจจะเพิ่มเป็น 11,000 ล้านคนในปี 2100 สวนทางกับปริมาณอาหารที่ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ WTO ยังเปิดเผยถึง วิกฤตอาหารโลกว่า เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้กำลังเผชิญทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ การแพร่ระบาดโควิด-19 และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการขาดแคลนอาหารที่เป็นปัจจัยผลักให้ประชากรโลกเข้าสู่ภาวะความยากจน ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวและห้ามส่งออกอาหารและวัตถุดิบบางประเภทแล้ว
ส่งผลให้ทั่วโลกมองแหล่งอาหารใหม่ๆที่ยั่งยืน ปลอดภัยและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นำมาซึ่งกระแส Foods For The Future หรืออาหารแห่งอนาคต โดยมี 3 ประเด็นสำคัญคือ 1. ความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) 2. ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และ 3. ความยั่งยืนทางอาหาร (Food Sustainability) โดยปัจจุบันฟิวเจอร์ ฟู้ดที่มีอัตราการเติบโตอย่างมากคือ ตลาดแพลนต์เบส ที่คาดว่าจะเป็นความหวังใหม่ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร
นายแมธเธียส คูเปอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโคโลญเมสเซ่ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความยั่งยืน ทำให้เทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาหารฮาลาล รวมถึงเทรนด์อาหารโปรตีนทางเลือกอย่างแมลงที่รับประทานได้ โดยสองในสามของผู้บริโภคทั่วโลกระบุว่าพวกเขากินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทดแทน
ในขณะที่ 23% บริโภคโปรตีนทางเลือกอย่างน้อยวันละครั้ง ขณะที่อาหารที่ผลิตจากพืช (Plant Based) ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 46% ต่อปี รวมทั้งเทรนด์การบริโภคอาหารที่ผลิตโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น
ด้านนายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า แม้ว่าอาหารแพลนต์เบส หรือ alternative protein ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านอาหารและความยั่งยืนในประเทศไทยจะมาช้ากว่ายุโรป แต่ประเทศไทยสามารถปรับตัวได้เร็ว
สังเกตได้จากงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 มีผู้ประกอบการอาหารแพลนต์เบส future food และ alternative protein เข้าร่วมงานจำนวนมาก และเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอาหารเหล่านี้ได้ดี และประเทศไทยถือว่าเป็นชั้นนำในเรื่องนี้
“ซีพีเอฟมีเป้าหมายขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น “บริษัทอาหารแห่งอนาคต” โดยผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ปลอดสาร มีคุณค่าทางโภชนาการ ด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมสุขภาพและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ล้านคนภายในปี 2050”
นายอาณัติ จุลินทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซีพีเอฟ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันซีพีเอฟ รุกตลาด แพลนต์เบสผ่าน แบรนด์ Meat Zero เพื่อตอบโจทย์การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคกลุ่ม Vegan และ Flexitarian ในราคาที่เข้าถึงได้ ที่สำคัญเป็นแบรนด์เนื้อจากพืชอันดับ 1 ของไทย รวมทั้งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยมีการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และเตรียมส่งออกไปตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
“ซีพีเอฟอยู่ในขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชและโปรตีนทางเลือกอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเป็นแบรนด์ อันดับ 1 ของผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชในภูมิภาคเอเชีย และก้าวเป็น Top 3 ของตลาดโลกภายใน 3 ปีข้างหน้า”
หนึ่งในผู้ประกอบการที่น่าจับตามองอย่าง “ล้อตโต้ฟู๊ด” โดยนาย สิทธิรัฐ วัชราภรณ์ ประธานกรรมการบริหารล้อตโต้ฟู๊ด จำกัด ประเมินสถานการณ์ว่า ปัจจุบันตลาดแพลนต์เบสเติบโตอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดถึง 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโตปีละ 19%และภายใน 5 ปีข้างหน้าแพลนต์เบสจะกินสัดส่วนประมาณ 30% ของตลาดเนื้อสัตว์ทั้งหมด
“ปัจจุบันมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดนี้จำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบในแง่บวกเพราะการที่มีหลายๆแบรนด์เข้ามาเล่นในตลาดทำให้ตลาดขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่รูปแบบการแข่งขันก็เริ่มมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมผู้เล่นในตลาดพยายามทำสินค้าให้เหมือนเนื้อสัตว์มากที่สุด แต่ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยและพบว่า สามารถอร่อยแบบแพลนต์เบสได้
ความอร่อยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเนื้อสัตว์อย่างเดียวผู้บริโภคจะค่อยๆพัฒนาตัวเองมากขึ้น เมื่อ 6 เดือนถึง 1 ปีที่แล้วตลาดแพลนต์เบสจะพูดถึงเรื่อง “เหมือน” หรือ “ไม่เหมือนเนื้อสัตว์” ทั้งในเรื่องของหน้าตา รสชาติแต่ตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มตั้งโจทย์ใหม่คือ แพลนต์เบสกินแล้วอร่อยหรือไม่”
ในส่วนของราคาเอง ผู้บริโภครับราคาแพลนต์เบสที่สูงกว่าเนื้อสัตว์จริงที่ 10% ซึ่งปัจุบันราคาแพลนต์เบสสูงกว่าเนื้อสัตว์จริงราว 8-15% ตอนนี้ผู้ประกอบการบางรายสามารถทำราคาแพลนต์เบสเท่ากับราคาเนื้อได้แล้ว อย่างไรก็ตามในเรื่องของราคาแทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะผู้บริโภคแพลนต์เบสจริงๆมองแวลู่ เช่น นิวทรูชั่น หรือรสชาติที่ถูกปาก มากกว่า price sensitive ดังนั้นการลดราคาของสินค้าแพลนต์เบสไม่ได้สร้างยอดขาย เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าจะราคาถูกหรือแพงหากไม่อร่อยผู้บริโภคไม่ซื้อซํ้า
“ตลาดแพลนต์เบสกำลังขยายตัวจากการที่ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น โลกร้อนขึ้น ทำให้อาหารน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เนื้อสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้นและปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ หน้าที่แพลนต์เบสฟู๊ด ในอนาคตคือการเข้าไปผสมกับเนื้อสัตว์จริง เพื่อทำให้รสชาติดีขึ้น ซึ่งทางฝั่งของอเมริกาและยุโรปเริ่มมีการมีการผสมเนื้อจากไก่หมูและวัวและแพลนต์เบส ในอัตราส่วน 50:50 ดังนั้นแพลนต์เบสจะกลายเป็น big business ในอนาคตอันใกล้
สำหรับประเทศไทยคนที่ทานแพลนต์เบสจำนวนหนึ่งอิงกับเรื่องศาสนาพอสมควร เพราะฉะนั้นถ้าทำแพลนต์เบสไฮบริดผู้ประกอบการอาจจะต้องแยกวิธีสื่อสารกับทาร์เก็ตคนละแบบ แต่เชื่อว่าทันทีที่อาหารไม่พอการผสมแพลนต์เบสกับเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่จะต้องทำอยู่แล้ว”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,792 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565