นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโสสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาที่เส็บมีพันธกิจที่ชัดเจนในการดึงงานหรือสร้างเศรษฐกิจเชิงบวกให้เข้ามาในประเทศผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งมีประกอบก็คือ corporate meeting ,incentive, convention และ exhibition เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดไมซ์
ทั้งนี้ในช่วงก่อนโควิดประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์ 2.8 แสนล้านบาทและสร้าง GDP ให้ประเทศ 2.7 แสนล้านบาทนอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน 4.1 แสนอัตราและสร้างรายได้ทางด้านภาษีให้เข้าสู่ประเทศ 20,000 ล้านบาทนี่คือความคุ้มค่าของการจัดงานไมซ์ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทีเส็บได้มีการพูดคุยกับทางนานาชาติและเตรียมความพร้อมในการประมูลสิทธิและวางแผนการประมูลงานเพื่อนำมาจัดในประเทศไทยทันทีที่มีการเปิดประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ทีเส็บ และสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้ร่วมกันคว้าสิทธิ์งานประชุมนานาชาติด้านไฟฟ้าและพลังงาน 3 งานซึ่งจะจัดขึ้นใน 3 เมืองไมซ์สำคัญ
คือเชียงใหม่ พัทยาและกรุงเทพฯ โดยจะต่อเนื่อง 3 ปีประกอบด้วย งานประชุม IEEE PES APPEEC 2023 จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2566 งานประชุม IEEE ISC2 2024 จัดที่เมืองพัทยาในปี 2567 และงานประชุม IEEE PES GTD Asia 2025 ซึ่งเป็นงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการด้านไฟฟ้าและพลังงานระดับนานาชาติ
“เราเชื่อว่าในกรอบของพลังงานไฟฟ้าและวิศวกรรมเป็น foundation ของการพัฒนาในทุกๆเรื่องหลังจากนี้เป็นต้นไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่เราเข้าสู่ digital economy การจัดงานครั้งนี้คาดว่าเราจะสามารถดึงผู้ร่วมงานได้กว่าหมื่นคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในวงเงิน 837 ล้านบาท สร้าง GDP 465 ล้านบาทและเกิดการจ้างงาน 586 อัตราและรายได้จากภาษีประมาณ 29 ล้านบาท
นอกจากนี้ในกรอบของงานคอนเวนชั่นโดยทั่วไปเราตั้งเป้าว่าทุกงานที่ทีเส็บ ให้การสนับสนุนจะต้องสร้างประโยชน์ได้ใน 3 ด้านคือนอกจากมรดกด้านทางเศรษฐกิจแล้วยังต้องมีมรดกทางสังคมคือจะต้องสามารถให้องค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจและสามารถเป็นพื้นฐานของการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต และมรดกทางด้านความยั่งยืนโดยรูปแบบของการจัดงานจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีการต่อยอดในพื้นที่ในจังหวัดที่จัดงานและในอุตสาหกรรมที่ ทีเส็บ ให้การสนับสนุน”
นอกจากนี้ทีเส็บยังได้คว้าสิทธิ์การจัดงานไมซ์ได้อีกหลายงาน อาทิเช่นงานพืชสวนโลกที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี รวมทั้งมีแผนไปประมูล world bank เพื่อนำกลับเข้ามาจัดในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ไม่ได้จัดมา30 ปี
“ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตัวเลขอุตสาหกรรมไหมในประเทศไทยหายไปประมาณ 70-80% แต่โชคดีที่ในปีนี้ประเทศไทยมีการประกาศเปิดประเทศ ทำให้นักเดินทางจากทั่วโลกสามารถเดินทางเข้ามาได้ ทำให้งานไมซ์ที่คั่งค้างมาตั้งแต่ต้นปีเริ่มมีการทยอยจัดงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี ดังนั้นสำหรับตัวเลขในปีนี้น่าจะดีขึ้นอยู่ที่ประมาณ 40% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด แต่ตัวเลขที่จะกลับไปเทียบเท่าก่อนโควิดอาจจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 3 ในปีหน้า”
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,819 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2565