ไม่แบกภาระ "ไทยเบฟ" พร้อมขึ้นราคา สุรา-เบียร์ หากรัฐรีดภาษีน้ำเมาเพิ่ม

27 ก.ย. 2565 | 12:29 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2565 | 20:49 น.

สรรพสามิตตั้งเป้าเก็บภาษีสินค้าใหม่ปีงบ 66 กว่า 5.67 แสนล้าน เหล้า-เบียร์ แอลกอฮอลล์ 0% บุหรี่ไฟฟ้า อาจโดนเพิ่ม “ไทยเบฟ” ลั่นเสียภาษีปีละ “แสนล้าน” พร้อมจ่ายเพิ่มแต่ไม่ขอแบกรับภาระ เตรียมขึ้นราคา สุรา-เบียร์ ด้วย

กรมสรรพสามิตมีแผนศึกษาเก็บภาษีสินค้าใหม่ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งเป้าภาษี 5.67 แสนล้านโดยเน้นจัดเก็บจากสินค้าที่ดูแลสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำมันไบไอเจ็ท ไบไอพลาสติก แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า เหล้า-เบียร์ แอลกอฮอลล์ 0% บุหรี่ไฟฟ้า และ คาร์บอน 

 

แน่นอนว่าประเด็นนี้จะกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง   บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ”  หนึ่งในผู้น้ำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารแถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งมีพอร์ตธุรกิจสุราและเบียร์ เป็นสัดส่วนรายได้ของบริษัท และมีการเสียภาษีในส่วนของสินค้าสุราและเบียร์แต่ละปีนับ "แสนล้านบาท"

 

 

 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” เปิดเผยถึงประเด็นการจัดเก็บภาษี เหล้า-เบียร์ แอลกอฮอลล์ 0% เพิ่มครั้งนี้ว่า ความเคลื่อนไหวทางด้านภาษีเป็นการเก็บภาษีไปที่หน่วยงานของภาครัฐ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจมีการถดถอยบ้างและรัฐมีความจำเป็นต้องลงทุนจึงต้องเก็บรายได้จากทั้งน้ำมัน รถยนต์และแน่นอนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทยเบฟ 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ”

“กระทรวงการคลังหรือกรมสรรพสามิต เป็น Last Stakeholder ของธุรกิจเครื่องดื่มสุราและเบียร์แน่นอนเพราะรายได้ทั้งหมดจริงๆไปอยู่ที่กระทรวงการคลังมากกว่าที่อยู่ในไทยเบฟ ในหนึ่งปีเราเสียภาษีโดยรวมทั้งให้กับกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรเรียกได้ว่าเป็น “แสนล้าน” 

 

ภาษีฟุ่มเฟือยหรือที่เราเรียกว่าภาษีสรรพสามิตเป็นภารกิจของผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่ต้องเพิ่มอัตรารายได้ของเขา เช่นในประเด็นของต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นเขาก็มองว่าไทยเบฟขึ้นราคาสินค้า แต่เขาได้เปอร์เซ็นต์เท่าเดิมแต่ไทยเบฟได้กำไรมากขึ้น เขาก็จะรู้สึกไม่ยินยอมเขาต้องขึ้นภาษีด้วย ซึ่งเมื่อเราขึ้นราคาเราก็จะได้กำไรบ้างเพื่อไปชดเชยกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งมันเป็นบรรยากาศปกติกับเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจที่ขึ้นๆลงๆ ผู้ลงทุนจะถามเราตลอดว่าเมื่อภาษีสูงขึ้นเราจำเป็นต้องแบกรับหรือไม่ ซึ่งเราไม่สามารถแบกภาษีของรัฐได้เราก็ต้องผลักออกไป แต่ในบริบทของอุตสาหกรรมนี้เรื่องของการปรับขึ้นภาษีเป็นเรื่องที่เราเข้าใจ และเป็นสถานการณ์ปกติตราบใดที่มีแนวโน้มว่าราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น” 

 

ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นคือ ค่าเงินบาทอ่อนตัวเพราะแม้ว่าค่าเงินบาทอ่อนตัวจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อภาคการส่งออกแต่ก็กระทบด้านลบด้านการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตสินค้าในประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยเบฟมีการ Import material เข้ามาบ้างแต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่เพราะธุรกิจสุราใช้ Raw material ส่วนใหญ่จากในประเทศ ส่วนธุรกิจเบียร์นอกจากต้อง Import มอลต์ เข้ามายังมีราคาของกระป๋องอลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งจะมีผลกระทบถ้าไทยเบฟไม่สามารถแบกรับภาระของค่าใช้จ่ายต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นก็ต้องขึ้นราคาสินค้า

 

ทางด้าน นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา  เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของภาษีกรมสรรพสามิต ภาษีที่จัดเก็บจากสุราในแต่ละปีเกินกว่า 60,000 ล้านบาทและภาษีที่เก็บจากเบียร์ประมาณ 80,000 ล้านบาททั้งอุตสาหกรรม เราจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินอยู่แล้ว 

 

ในการเก็บภาษีเพิ่มเติมเรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราในฐานะผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ แต่ถ้ามีการเก็บภาษีเพิ่มเราก็จำเป็นที่จะต้องเก็บเพิ่มจากผู้บริโภคเช่นกัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องแบกรับไว้ เพราะฉะนั้นส่วนนี้ถ้ารัฐจะมาเก็บเพิ่มภาษีแล้วทำให้เงินเฟ้อขึ้นก็เป็นการตัดสินใจของรัฐเช่นเดียวกัน”  

 

ทั้งนี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ให้เหตุผลของการจัดเก็บภาษีเหล้า-เบียร์ ว่าหากมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง ก็จะจัดเก็บภาษีสูง แต่หากไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์-เหล้า 0% ก็จัดเก็บภาษีต่ำ ซึ่งเทรนด์การดื่มอัลกอฮอล์ 0%นี้ ถือเป็นเทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่ ฉะนั้นกรมฯจึงส่งเสริมและหนุนให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ เหล้าเบียร์ 0%นี้ เราจะจัดอยู่ในหมวดหมู่เครื่องดื่มทั่วไป โดยอัตราภาษีจะต่ำกว่าภาษีเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์แต่จะสูงกว่าเครื่องดื่มทั่วไป

 

ในแต่ละปีรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณการรักษาสุขภาพของประชาชนมากกว่า 1 แสนล้านบาท  โดยปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน  มีผู้ป่วยฟอกไต 1-2 แสนคน และยังมีผู้ป่วยโรคปอด โรคตับแข็งอีกจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลดังนั้นจึงควรใช้มาตรการช่วยลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ