อเด็คโก้ เอเจนซี่ เผยรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 พบคนทำงานทั่วโลกใน 25 ประเทศ 1ใน 4 เตรียมลาออกซบบริษัทใหม่ สาเหตุหลักจากพิษเศรษฐกิจทำค่าครองชีพสูงขึ้นส่งผลให้ต้องการเงินเดือนมากขึ้น โดย 45% เริ่มสัมภาษณ์งานใหม่แล้ว และ 61% มั่นใจหางานได้ในหกเดือน ขณะที่คนตัดสินใจอยู่ต่อเห็นพ้องว่ารู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงานมากกว่าปีที่แล้ว
นางสาวธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน 3 ใน 5 ของคนทำงานทั่วโลก (61%) แสดงความกังวลต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลพวงจากเงินเฟ้อทำให้เกิด‘Quitfluencers’ หรือปรากฏการณ์แรงกระเพื่อมทางความรู้สึกอยากลาออก เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนทยอยลาออกจำนวนมาก โดย 7 ใน 10 คน ยอมรับว่าการเห็นผู้อื่นลาออกทำให้หันมาพิจารณาการลาออกของตัวเอง และในท้ายที่สุดมี 5 ใน 10 คนที่ตัดสินใจลาออกตาม โดย Gen Z ได้รับอิทธิผลมากกว่า Gen อื่น 2.5 เท่า
คนทำงานทั่วโลก27% วางแผนจะลาออกภายใน 12 เดือนข้างหน้า เกือบครึ่งหนึ่ง (45%) เริ่มหางานแบบจริงจังและมีนัดสัมภาษณ์งานเรียบร้อยแล้ว และ 6 ใน 10 ของคนทำงานทั่วโลก (61%) ตอบว่ารู้สึกมั่นใจว่าสามารถหางานใหม่ได้ภายในไม่เกิน 6 เดือน และคนจำนวนมากเชื่อว่าคนทำงานเป็นฝ่ายกุมอำนาจในการต่อรองมากกว่าบริษัท โดยเฉพาะ คน Gen Z ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นพิเศษ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) กำลังทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ และ 64% เลือกใช้ตัวเลือกลดเงินเดือนเพื่อแลกกับการทำงานลดลง 1 วัน
นอกจากนี้ความกังวลเรื่องรายได้ที่ตามไม่ทันค่าครองชีพเป็นผลให้คนทำงาน 51% ตัดสินใจมองหาอาชีพเสริม และ 35% ของคนทำงานที่ไม่ใช่พนักงานออฟฟิศยอมรับว่าได้ประกอบอาชีพเสริมที่จ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับใช้ชีวิต โดยคน Gen Y เป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเสริมมากที่สุดส่วนประเทศ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศในแถบยุโรปตะวันออกรวมถึงตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ เป็น 3 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ที่คนมีแนวโน้มจะลาออกมากที่สุดในอีก 1 ปีข้างหน้า ส่วนประเทศที่คนมีแนวโน้มจะลาออกน้อยที่สุดคือ จีน อิตาลี่ และญี่ปุ่น
ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าค่าครองชีพจะเป็นปัญหาสำหรับคนทำงาน แต่การขึ้นเงินเดือนกลับไม่ใช่ปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ทำให้คนยอมอยู่ต่อ ปัจจัยอันดับ 1 ที่ทำให้คนยังไม่ลาออกคือ มีความสุขกับงาน รองลงมาได้แก่ ความรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงาน งานมี work life balance และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ตามลำดับ แต่สำหรับคนที่ตัดสินใจว่าจะย้ายงานแน่นอน เงินเดือนที่ดีก็ยังคงเป็นปัจจัยอันดับ 1 ที่น่าดึงดูดที่สุด รองลงมาคือ การมี work life balance และมีความยืดหยุ่น
" ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้ คนทำงานได้รับแรงกดดันจากเรื่องของข้าวของราคาแพง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น แต่รายได้ที่มีอยู่มีมูลค่าน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกงาน แต่ในขณะเดียวกันเรื่องความสุขในชีวิตก็กลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ องค์กรจึงอาจเริ่มพิจารณาใช้นโยบายที่ช่วยให้พนักงานเกิด work-life balance ที่ดีขึ้น อย่างเช่น การเปลี่ยนวิธีทำงานเป็น hybrid working ที่ให้พนักงานเข้า office บางวัน เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมงานได้เจอหน้ากันและทำงานได้สะดวกขึ้น สลับกับการทำงานที่บ้านในวันที่เหลือ เพื่อให้พนักงานได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้
วิธีนี้จะช่วยให้คนทำงานสามารถใช้ชีวิตในองค์รวมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น นับเป็นเรื่องท้าทายขององค์กรที่จะสร้างสมดุลของทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน และความสุขให้กับพนักงาน และการรักษาบุคคลากรเก่ง ๆ ให้อยู่กับองค์กรก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ซึ่งหน้าที่นี้ ไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องของผู้บริหารระดับสูงหรือฝ่ายบุคคลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของหัวหน้างานทุกระดับ ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างคนทำงานและฝ่ายบุคคล หรือผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าต้องหาเวลาพูดคุยกับทีมงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อรู้ปัญหาและความต้องการของทีมงาน รวมถึงเป็นตัวกลางสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร"
ธิดารัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาพนักงานเก่ง ๆ ไว้ คือองค์กรต้องลงทุนกับการเสริมสร้างทักษะและความรู้ใหม่ๆ ให้พนักงานทุกคน ไม่เพียงแค่เฉพาะระดับ manager หรือหัวหน้างาน แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานในทุกระดับ เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมต่อเทรนด์การทำงานที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น ความรู้ด้าน PDPA ความเข้าใจด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมในองค์กร (Diversity, Equity, and Inclusiveness) และในส่วนของทักษะที่จำเป็นอย่างทักษะด้านดิจิทัล จากที่หลายองค์กรกำลังปรับใช้ digital transformation เพื่อเสริมความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น
รวมถึงการเข้ามาของ Artificial Intelligence (AI) และการเพิ่มขึ้นของ Gig Economy หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่รับงานเป็นชิ้น ๆ ทำให้คนทำงานหลายคนกังวลว่าทักษะจะไม่เพียงพอและโดนแทนที่ในอนาคต ทำให้การสร้าง Lifelong learning culture ให้เกิดขึ้นในองค์กรเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง หากองค์กรใดสามารถแสดงให้เห็นว่าองค์กรเห็นคุณค่าในตัวพนักงาน พร้อมทั้งมีนโยบายที่สอดรับกับความต้องการของพนักงาน องค์กรนั้นก็จะได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้