การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ แต่ในอีกมุมก็อาจส่งผลกระทบอย่างหนักให้กับเหล่านายจ้างทั่วไทยไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งจะค่อย ๆ ฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 มาไม่นาน
โดยการปรับขึ้นค่าจ้างรอบนี้ ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็นขั้นบันไดเช่นเดิม ตั้งแต่ 8-22 บาท ไม่เท่ากันทุกจังหวัด ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5.02% โดยล่าสุดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อย และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ในการปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ อาจส่งผลดีเกิดการปรับฐานเงินเดือนของพนักงานเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่นั้น นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ยอมรับว่า ฐานเงินเดือนต้องปรับตามอยู่แล้ว และถ้าเกิดไม่รับฐานเงินเดือนกันใหม่ก็ทำให้คนไหลออกแน่นอน
“ฐานเงินเดือนพนักงานจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นไปทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมา แต่จะเพิ่มขึ้นน้อยขึ้นมากตามตำแหน่ง และความเหมาะสมขององค์กร อย่างบางองค์กรก็ปรับให้เท่า ๆ ค่าเฉลี่ยค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราถ้าไม่ทำคนก็ไหลออก และแม้ว่าเรื่องนี้จะกระทบกับต้นทุนขององค์กร แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะตอนนี้เงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นมาสูงมากแล้ว”
เขายอมรับว่า เมื่อการปรับค่าแรงมีผลบังคับใช้แล้ว นายจ้างก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเป็นกฎหมายแรงงาน โดยการขึ้นค่าแรงรอบนี้ถือเป็นการขึ้นในระดับที่ประนีประนอม ไม่ได้ขึ้นสูงมากเกินไป เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากว่าจะได้ข้อสรุปทั้งรัฐ ลูกจ้าง นายจ้างก็สู้กันมาค่อนข้างแรง โดยเฉพาะในเขตกทม. และปริมณฑล ที่สู้กันแรงมากเพราะมีการเสนอค่าจ้างที่สูงกว่านี้
“นายจ้างบางรายบอกว่าการปรับเพิ่มขึ้นในภาวะแบบนี้มันแรง เพราะไปแตะปุ๊บก็กระทบกับต้นทุนหลักแน่นอน เรื่องนี้พอเข้าใจได้ แต่เมื่อพูดกันกลาง ๆ ก็เป็นระดับที่ประนีประนอมกัน จะไม่ขึ้นเลยก็ไม่ได้ และจะขึ้นแค่ 2-3% หรือขึ้น 10 บาท เหมือนรอบก่อนก็คงไม่ใช่ ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่คุยกันจนได้ข้อสรุป ฝ่ายนายจ้างก็เข้าใจ”
นายธนิต ยอมรับว่า อัตราที่เตรียมบังคับใช้ในปัจจุบัน นายจ้างส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะถ้ายิ่งปล่อยลากยาวไม่ปรับขึ้นไป จนใกล้การเลือกตั้ง อาจมีการหยิบประเด็นเรื่องค่าแรงมาเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยม ด้วยการเสนอปรับขึ้นค่าแรงสูงสุดเหมือนที่เคยคุยกันมาก่อนว่าจะปรับให้ถึงวันละ 490 บาท หากเป็นเช่นนี้นายจ้างจะกระทบหนัก เพราะคิดเป็นตุ้นทุนค่าจ้างที่จะเพิ่มสูงถึงวันละ 166 บาท
สำหรับการปรับค่าจ้างครั้งนี้ ประกอบด้วย 9 โซนจังหวัดแตกต่างระหว่างวันละ 328 บาทถึง 354 บาท ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.02% อัตราต่ำสุด 3 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดอุดร และน่าน ปรับเป็นวันละ 328 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4.81% สำหรับโซนกทม.และปริมณฑลจากวันละ 331 บาท เป็น 353 บาท เพิ่มขึ้นวันละ 22 บาท เพิ่มขึ้น 6.65%
แต่ผลกระทบจากการปรับค่าจ้างครั้งนี้ ความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของคลัสเตอร์ธุรกิจ และอุตสาหกรรม หากสินค้ากำไรต่ำแต่สัดส่วนค่าจ้างต่อต้นทุนรวมสูง ผลกระทบก็ย่อมสูงตามไปด้วย โดยภาพรวมการปรับค่าจ้างมีผลต่อต้นทุนรวมสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5 - 2.0% แต่บางภาคส่วนธุรกิจอาจสูงกว่านี้ เช่น อุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ก่อสร้าง โลจิสติกส์ ค้าส่ง-ค้าปลีก และ ภาคบริการต่าง ๆ
อย่างไรก็ดีการปรับค่าจ้างครั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาไม่เอื้อ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวการเติบโตในเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อันเนื่องมาจากผลกระทบวิกฤตการระบาดไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตชะลอตัวไป จนถึงถดถอยเป็นผลจากสงครามรัสเชีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูง ซึ่งขณะนี้ราคาสวิงไร้เสถียรภาพ ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 7.86% (ค่าเฉลี่ย พ.ค.-ส.ค.อยู่ที่ 7.56%)
เช่นเดียวกับภาคเศรษฐกิจกำลังเผชิญจากการขาดแคลนวัตถุดิบ แต่แนวโน้มเริ่มคลี่คลาย ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยปรับสูงและอัตราแลกเปลี่ยนสกุลบาทอ่อนค่าส่งผลทำให้สินค้านำเข้าในรูปเงินบาทราคาสูง
ด้านปัจจัยบวกการส่งออกยังขยายตัวได้ดี ราคาน้ำดิบเริ่มลดลง ค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศปรับตัวลดลง ประชาชนเริ่มมาใช้ชีวิตปกติ นักท่องเที่ยวต่างชาติครึ่งปีหลังอาจมีจำนวน 7.5 ล้านคน คาดว่า ปีนี้อาจมีจำนวน 9.5 ล้านคน แต่ยังห่างจากก่อนโควิด ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีความเปราะบาง สะท้อนจากผลสำรวจขององค์กรส่งเสริมการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JETRO) พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2565 ปรับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 26 เป็นระดับ 29 ผลประกอบการในรูปของยอดขายเพิ่มขึ้น 33% และไม่เปลี่ยนแปลง 22%
ด้านผลกระทบจากโควิด พบว่า ผู้ประกอบการเกินกว่าครึ่งคือ 56% ยังได้รับผลกระทบปานกลางและธุรกิจ 18% ได้รับผลกระทบในระดับสูง
ขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนกรกฎาคม ระบุว่า ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.48 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 4.2 แสนคน จำนวนการว่างงานลดจาก 1.4% เหลือ 1.3% ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานเริ่มกลับมา แต่จำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมเดือนกรกฎาคม เปรียบเทียบกับก่อนวิกฤตโควิดยังหายไป 389,243 คน
นายธนิต ระบุว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565 เฉลี่ยปรับเพิ่ม 4.81 - 6.65% ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบหรือแรงกระเพื่อมไปสู่แต่ละคลัสเตอร์ธุรกิจย่อมแตกต่างกัน โดยเฉพาะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและบริการซึ่งใช้แรงานเข้มข้นจำนวนมากทำให้มีสัดส่วนค่าจ้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม
ดังนั้นทางออกที่พูดง่ายแต่ทำงานคือการลดจำนวนคนหรือจำนวนแรงงาน (Head Count Reduction) และการลดต้นทุนแต่ยังประสิทธิภาพการทำงานเกี่ยวข้องกับการบริหารค่าจ้างด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน