SNNP ปักหมุด เวียดนาม ฐานการผลิตสแน็ค-เครื่องดื่ม ปั้นรายได้ 2 พันล้านใน 5 ปี

13 พ.ย. 2565 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2565 | 15:30 น.

SNNP เดินเกมรุกตลาดต่างประเทศ วาง “เวียดนาม” ฐานการผลิตสแน็ค-เครื่องดื่มแห่งใหม่เด้งรับเศรษฐกิจโตบวกแรงหนุนยกเว้นภาษี ปักธงเป้าใหญ่ปั้นรายได้ 2,000 ล้านบาทโต 7 เท่าภายใน 5 ปี คิกออฟเฟสแรกเดินเครื่องผลิตขนมขาไก่แบรนด์ “โลตัส” ก่อนสยายปีกผลิตทั้งเบนโตะและเจเล่

การตอบรับสินค้าภายใต้พอร์ต SNNP บวกกับการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ความพร้อมทางด้านแรงงาน วัตถุดิบและภูมิประเทศ รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวเวียดนามยุคใหม่และช่องว่างการตลาดที่มีขนมขบเคี้ยววางจำหน่ายไม่มากนัก

SNNP ปักหมุด เวียดนาม ฐานการผลิตสแน็ค-เครื่องดื่ม ปั้นรายได้ 2 พันล้านใน 5 ปี

ทำให้ SNNP ขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม ก่อตั้งโรงงานผลิตสินค้าภายใต้บริษัท S.T.Food Marketing (STFM) โดยถือหุ้น100% ผ่านบมจ. SNNP International ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัทศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในสัดส่วน 99.9% พร้อมเดินหน้าผลักดันให้เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่

นายฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบในมุมกว้างจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่บริษัทยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จากการบริหารจัดการที่ดี โดยพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นทำให้สินค้ามีความพรีเมี่ยมและสร้างอัตรากำไรที่สูงขึ้น

นายฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ SNNP

ซึ่งนอกจากตลาดในประเทศแล้ว บริษัทยังมีเป้าหมายขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งได้นำกลยุทธ์ Localization Strategy มารวมกลุ่มประเทศ CLMV และไทยให้เป็นตลาดเดียวกัน

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้กระจายสินค้าไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนามมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายการลงทุนและตั้งโรงงานในกลุ่ม CLMV โดยเริ่มจากกัมพูชาและเวียดนาม ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานทั้งสิ้น 6 โรงงานใน 3 ประเทศได้แก่ ไทย 4 โรงงาน กัมพูชา 1 โรงงานในจังหวัดกันดาล หรือก็อนดาล และเวียดนาม 1 โรงงานในจังหวัดบินห์เซือง ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 250 ล้านคน ทั้งไทยและ CLMV

SNNP ปักหมุด เวียดนาม ฐานการผลิตสแน็ค-เครื่องดื่ม ปั้นรายได้ 2 พันล้านใน 5 ปี
ทั้งนี้รายได้จากการส่งออกของเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมามีการขยายตัว 67%, 55% และ 123% ตามลำดับและรายได้จากการส่งออกมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการส่งออกรวม 591 ล้านบาทแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากการส่งออกของกลุ่ม CLMV ประมาณ 77% และอีก 21% มาจากประเทศส่งออก อื่นๆ


“บริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพของการขยายโอกาสทางการตลาดในประเทศเวียดนามที่มีความพร้อมในด้านของแรงงาน วัตถุดิบ และภูมิประเทศ เป็นหนึ่งในประเทศที่ต่างชาติให้ความสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง บริษัทจึงตั้งโรงงานผลิตสินค้าภายใต้ชื่อบริษัท S.T. Food Marketing (STFM) ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เศรษฐกิจเวียดนาม สิงคโปร์อินดัสเทรียลพาร์ค หรือ VSIP จังหวัดบินห์เซือง (Binh Duong) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคใต้ของประเทศเวียดนามห่างจากเมืองโฮจิมินห์ 30 กิโลเมตร พื้นที่รวม 2 หมื่นตารางเมตร เพื่อผลิตสินค้าเยลลี่พร้อมดื่ม ปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น ขนมขึ้นรูป ขนมปังแท่ง เพื่อจำหน่ายในเวียดนาม พร้อมส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่ม CLMV และเอเชีย”

SNNP ปักหมุด เวียดนาม ฐานการผลิตสแน็ค-เครื่องดื่ม ปั้นรายได้ 2 พันล้านใน 5 ปี


ทั้งนี้โรงงาน STFM เวียดนามจะเริ่มดำเนินการผลิตสินค้าเฟสแรกในเดือนกันยายน 2565และเปิดการค้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการสำหรับขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่งภายใต้แบรนด์ “โลตัส” ในไตรมาส 4 ของปี 2565 นอกจากนี้ในปีหน้า บริษัทเตรียมแผนในการผลิตสินค้าเพิ่มเติมอีก 2 เฟส โดยเฟสที่ 2 จะผลิตสินค้าประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้นภายใต้แบรนด์ “เบนโตะ” ในไตรมาสแรกของปี 2566 และเฟสที่ 3 จะผลิตสินค้าเยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่คาราจีแนนภายใต้แบรนด์ “เจเล่” ภายในไตรมาส 3 ของปี 2566 ดังนั้นในปีหน้าโรงงานในเวียดนามจะกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญภายใต้ตราสินค้าต่างๆของบริษัทอย่างครบวงจร

 


สำหรับตลาดต่างประเทศตอนทำ IPO เรามองว่าเราจะเติบโตสูงได้ใน CLMV เพราะเราเห็นพัฒนาการของตลาดต่างประเทศดีขึ้นมาก เราจึงตั้งเป้าหมายว่า 5 ปีเราน่าจะเป็นตัวเลขรายได้จากต่างประเทศเป็นสัดส่วน 40% ของศรีนานาพรและในปีหน้าเราตั้งเป้ารายได้จากเวียดนามที่ 1,050 ล้านบาทโดยรายได้จะมาจากไลน์การผลิตในเวียดนาม 60-70% และสินค้านำเข้าจากไทย 30-40% การลงทุนเปิดโรงงานใน CLMV ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงของการผลิตเป็นหลัก เราสามารถนำสินค้าที่ผลิตในเวียดนามหรือกัมพูชาเข้ามาขายเมืองไทยได้ และถ้าเกิดปัญหาเรื่องแรงงานเราสามารถโยกการผลิตมาที่กัมพูชาหรือเวียดนามได้เช่นกัน โดยโรงงานในเวียดนามเป็นโปรเจ็กต์ที่มีมูลค่าการลงทุนราว 1,050 ล้านบาท เพราะมองว่าอีก 5 ปีข้างหน้าแรงงานจะเป็นปัญหาใหญ่ของเวียดนามเพราะฉะนั้นเราจึงใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเป็นหลัก

 

“บริษัทตั้งเป้าในการเป็น regional player สำคัญใน CLMV ที่ผ่านมา ศรีนานาพรให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นที่ตั้ง สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยได้รับการยอมรับอันดับ 1 หลายประเทศสินค้าของศรีนานาพรเป็นที่คุ้นชินและสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม กัมพูชาจะต้องมีภาษาไทยบนแพกเกจจิ้ง ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยและช่วยดึงดูดผู้บริโภคชาวเวียดนามและกัมพูชา”

SNNP ปักหมุด เวียดนาม ฐานการผลิตสแน็ค-เครื่องดื่ม ปั้นรายได้ 2 พันล้านใน 5 ปี


นายฐากร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้สินค้าที่จำหน่ายในเวียดนามส่วนใหญ่ยังมาจากไลน์การผลิตในไทย ทำให้สินค้ายังมีราคาสูงเพราะต้องเสียภาษีนำเข้า แต่ในอนาคตหากมีการผลิตและใช้วัตถุดิบในเวียดนามจะทำให้ราคาขายในเวียดนามถูกลงเพราะวัตถุดิบหลักทั้งแป้ง แพคเกจจิ้งในเวียดนามมีราคาถูกกว่าบ้านเรา และยังไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะต้องยอมรับว่าตลาดเวียดนามมีการแข่งขันสูงจากผู้เล่นแบรนด์ญี่ปุ่น เกาหลี ไทยและแบรนด์โลวคอลเองแต่ส่วนใหญ่สินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวผู้บริโภคยังนิยมของไทยเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งเรามีการพัฒนารสชาติที่ชาวเวียดนามชื่นชอบจำนวน 2 รสชาติ และจนถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มอีก 2 รสชาติคือรสเนื้อ และเบนโตะซอสพริกเวียดนาม”

 


สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุดในเวียดนาม ได้แก่ เบนโตะ รองลงมาเป็นโลตัสและเจเล่ ทั้งนี้คาดว่าในปี 2566 รายได้จากเวียดนามจะคิดเป็น 50% ของตลาดส่งออกราว 2,000 ล้านบาทและมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักทุกปี อย่างไรก็ดีในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากเวียดนาม 300 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีรายได้ราว 218 ล้านบาท เติบโต 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยว 93% และเครื่องดื่ม 7%”



หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,834 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565