นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยไม่ให้จีดีพีของไทยขยายตัวต่ำกว่า 2% หากไม่สามารถเจรจาลดภาษีได้เลย มีโอกาสเช่นเดียวกันที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอาจติดลบถ้าภาคส่งออกติดลบเกิน 5%
ทั้งนี้ การผนึกกำลังกับประเทศอาเซียนเพื่อไปเจรจาต่อรองร่วมกันจะเพิ่มอำนาจต่อรองให้ประเทศไทย ผู้นำอาเซียนต้องหารือกัน หากแต่ละประเทศเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ จะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลยและอาจต้องทำตามผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจตามที่สหรัฐฯต้องการเป็นหลัก การลดอัตราภาษีให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ การเปิดตลาดและการเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯเป็นกลยุทธการเจรจาที่ทุกประเทศน่าจะนำมาใช้เช่นเดียวกัน หากกลยุทธเหล่านี้ทำในนามของอาเซียนย่อมมีพลังมากกว่า การไปเจรจาแบบทวิภาคี
อย่างไรก็ตาม การจะนำมาตรการลดภาษีนำเข้าให้สินค้าสหรัฐฯ ไปแลกกับการลดกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯต่อสินค้าไทย ก็ต้องดำเนินการโดยประเมินผลกระทบข้างเคียงด้วย เพราะอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าบางตัวของไทยนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ
การแลกได้แลกเสีย (Trade Off) ล้วนเกี่ยวพันกับมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสิ้น ไม่ใช่ประเด็นเศรษฐกิจล้วนๆอย่างประเด็น Market Access ที่กลุ่มทุนบริการของสหรัฐฯต้องการให้เกิดขึ้น กลุ่มทุนบริการของไทยที่มีอำนาจผูกขาดในโครงสร้างตลาดภายในย่อมต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงและต้องการรักษาอำนาจผูกขาดไว้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสหกรรมโทรคมนาคม ธุรกิจอุตสาหกรรมการเงิน เป็นต้น หรือ ภาษีเพื่อปกป้องภาคเกษตรกรรมของไทย
นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทสำคัญในการ ก่อตั้งและเข้าร่วมNorth Asia and AEC New Free Trade Zone เนื่องจากจีนประกาศเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 34% และ ประกาศไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย รวมทั้งประกาศเจรจาตั้ง Free Trade Zone ใหม่กับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งไทยและอาเซียนควรเข้าร่วมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ใหม่นี้
อย่างไรก็ดี ผลของนโยบายกีดกันทางการค้าและการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์โดยเฉพาะการเก็บภาษีพื้นฐาน 10% ทุกประเทศพร้อมเก็บภาษีตอบโต้จะทำให้โครงสร้างและพัฒนาการของระบบการค้าเสรีของโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม การเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้าทำให้ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้ระบบ WTO ล่มสลายลง อัตราภาษีศุลกากรขึ้นไปสูงที่สุดในรอบ 100 ปี ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนักเช่นเดียวกันกับช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19
และการที่จีนและกลุ่มอียูก็ตอบโต้ทางการค้าด้วยกำแพงภาษีนำเข้าเช่นเดียวกัน ย่อมทำให้ผลสุทธิทางด้านสวัสดิการเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของโลกจะย่ำแย่ลงอย่างมาก จะสะท้อนมาที่ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกจะลดลงอย่างรุนแรงในปีนี้
รวมถึงอัตราการขยายตัวจีดีพีของโลกจะลดลงจากปัจจัยดังกล่าว ประเทศจีนอาจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากการถูกขึ้นภาษีถึง 54% ในสินค้าทุกประเภทอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 3% หากจีนไม่สามารถหาตลาดอื่นๆมาชดเชยได้ ภาคส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 14% ของการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้ งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก และธนาคารโลก ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้ามีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก
การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอาจทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯดีขึ้นในระยะสั้น ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในได้ระดับหนึ่ง แต่จะเกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราการเติบโตในระยะยาวลดลงได้