“WARRIX” เป็นชื่อที่แฟนกีฬาคุ้นหูเป็นอย่างดี ในฐานะผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาสัญชาติไทยที่สบประสบความสำเร็จอย่างสูงจนสามารถก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าของอุตสาหกรรมกับยอดขาย “พันล้าน” ในระยะเวลาเพียง 9ปี เท่านั้น
ทั้งนี้นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX เปิดเผยถึงความสำเร็จที่ผ่านมาว่า “ เราเกิดและเติบโตจากคำว่า “สปอร์ตแวร์” ถ้าเราเดินตามรอยเจ้าตลาดเดิมเราจะไม่มีทางแจ้งเกิดได้ เราจึงสร้างเกมใหม่ในการสร้างแบรนด์โดยการใช้ license marketing ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ในภูมิภาคนี้ยังใช้กันน้อยและถูกสอนใน business school ว่าไม่มีแล้วในโลกของ business ปัจจุบัน แต่จริงๆยังมีอยู่
เรามี ไลเซ่นส์ในมือมากกว่า 16 ไลเซ่นส์ ในระยะเวลาตามสัญญาตั้งแต่ 1-15 ปี ทำให้เราผูกขาดพื้นที่ทางการตลาดทั้งในระดับชาติและในระดับสโมสร จนบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด และจากสถิติข้อมูลแฟนกีฬากว่า 60% ไม่เพียงแต่สนใจชุดกีฬาของทีมเท่านั้นส่วนมากหันมาสนใจและติดตามผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เพิ่มขึ้นด้วยและทำให้บริษัทสามารถสร้างยอดขายระดับพันล้านได้”
เพื่อสอดรับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของบริษัทนอกเหนือแนวทางฟุตบอล บาสเกตบอลและกอล์ฟ “WARRIX” ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เซ็กเมนต์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์เสื้อลำลอง เสื้อโปโลที่ใช้นวัตกรรมและดีไซน์ให้สามารถใส่ทำงานหรือทำกิจกรรมทั่วไปได้ ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตทางด้านสินค้า Active and Lifestyle ที่ได้รับการตอบรับจากวัยทำงานและลูกค้าองค์กรทั่วประเทศ
“เราเติบโตด้วยความเป็นกีฬา จนคนมองเราเป็นสปอร์ตแวร์อย่างเดียวแต่จริงๆแบรนด์“WARRIX” เป็น health active lifestyle จึงไม่แปลกที่เราจะต่อยอดจาก sport เป็น health and lifestyle สิ่งเหล่านี้เราทำตามโจทย์ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปโดยมีโควิดเป็นตัวเร่ง นอกจากนี้เรายังนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่และใช้วัตถุดิบเกรดเดียวกับ global brand ที่เป็นสินค้าเกรดสูงสุดที่ผลิตได้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากีฬา มาผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ภายในเวลา 6 เดือนหรือต่ำกว่า 6 เดือน ในขณะที่ Global Brand หรือแบรนด์อื่นต้องใช้เวลา 1 ปี ให้คนไทยและลูกค้าในภูมิภาคอาเซียนได้ใช้สินค้าคุณภาพสูงสุดในราคาที่จับต้องได้”
เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทบริการด้านสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ “WARRIX” ให้ความสำคัญไม่แพ้กันในขยายธุรกิจจากคำว่าสปอร์ตแวร์ไปสู่ health active lifestyle เริ่มจากการเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาแบบครบวงจรให้บริการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มลูกค้านักกีฬา บุคคลทั่วไป และผู้สูงอายุโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมกับอุปกรณ์มาตรฐานระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ สาขาแรกตั้งอยู่ที่ Stadium One และสาขาที่ 2 ตั้งอยู่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งวางแผนจะพัฒนาเป็น WARRIX Run Hub นอกจากมีโค้ชที่จะช่วยเทรนแล้วยังมีการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งครบวงจร
"เราไม่ได้เป็นแค่แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาแต่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างแบรนด์ให้เป็นผู้นำด้าน health active lifestyle เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้าและตลาดของวิทยาศาสตร์การกีฬาใหญ่กว่า สปอร์ตแวร์ เวลเนสและสปาเยอะมาก แต่เราจะเติบโตแบบแบบระมัดระวังและมีองค์ความรู้”
ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า “โลกเปลี่ยนไป business landscape เองก็เปลี่ยนไปด้วย ขณะที่แบรนด์ก็เติบโตตามไปด้วยแบรนด์ “WARRIX” ก็วิ่งเข้าหาไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ การเติบโตของแบรนด์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ในประเทศไทยอาจจะสูญเสียความได้เปรียบเมื่อแบรนด์อินเตอร์เข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย แต่ด้วยความแข็งแรงในความเป็นสปอร์ตแวร์ ของ“WARRIX”เราจึงทำสินค้า “สปอร์ตแฟชั่นไลฟ์สไตล์” ออกมา เพราะ global trendการใส่สูทผูกไทด์น้อยลงมีการยอมรับการใส่เสื้อผ้าแนว sport ในการทำงานมากขึ้น “
WARRIX”จึงมูฟแบรนด์จาก sport ก้าวข้ามไปสู่ health active lifestyle ประกอบกับในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีแบรนด์ Leader ทั้งในตลาดสปอร์ตและตลาด health active lifestyle ดังนั้นเราใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาต่อยอดในความเป็น product สู่ความเป็นวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ตลาดใหญ่กว่าตลาดเดิมที่“WARRIX”เคยอยู่นับ 10 เท่า”
แม้ทั่วโลกจะต้องเจอกับสถานการณ์โควิดตลอด 3 ปีที่ผ่านมาแต่ “WARRIX” ไม่ได้ยอมยกธงขาวให้กับปัญหาแต่อย่างใด “WARRIX” ตัดสินใจปรับเปลี่ยนธุรกิจบนพื้นฐานความจริงโดยเริ่มจากการบริหารจัดการประสิทธิภาพในองค์กร เช่นการลดต้นทุนปรับกระบวนการให้กระชับมากขึ้นรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับ e-commerce ทั้งการลงทุนกับระบบ data management และการใช้เทคโนโลยี AI ทำให้ปัจจุบันสามารถพัฒนาเว็บไซต์ได้ในรูปแบบของmall.comพร้อมกับการเพิ่มช่องทางสินค้าในตลาดออนไลน์ อย่าง lazada shopee และ jd central รวมถึงการสร้างเครือข่ายกว่า 400 ร้านค้าทั่วประเทศ
“เรานิยามตัวเองว่าเป็น Game changer ทุก license ที่ได้มามีกำไรจากทุกช่องทางจำหน่าย ที่เราปูพรมตลาดเดิมอย่างที่เจ้าถิ่นทำไว้ ทั้งผ่านดีลเลอร์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศ ต่างจังหวัด มีโมเดิร์นเทรดครบ และที่สร้างใหม่คือการขายผ่าน24 shoppingของเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นวิธีการสร้าง new distribution channel ชั่วข้ามคืนโดยไม่ต้องเปิด shop เพราะการขยายกิจการโดยเปิดร้านหลายพันสาขาไม่ใช่สิ่งที่ควรเดินในอนาคตเพราะมีความเสี่ยงเยอะ แต่สิ่งที่ควรทำคือสร้างความร่วมมือทางธุรกิจที่ WIN-WIN ทั้ง2ฝ่าย ปัจจุบัน new channel จากอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนยอดขาย 30% ของยอดขายรวม”
สำหรับเป้าหมายต่อไปของ “WARRIX” คือ การเติบโตในแนวกว้างและการทำสินค้าที่หลุดออกไปสู่คำว่าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ที่ผ่านมา“WARRIX”เริ่มขยายธุรกิจไปสู่ music industry หรือ food industry เช่นความร่วมมือกับคอนเสิร์ต big mountain ในการทำ “ ซูวีเนียร์” ของงานคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีคนเข้าร่วมคอนเสิร์ต 50,000 -70,000 คน ซึ่ง “WARRIX” พบว่ามีโอกาสแบรนด์จะโตในแนวกว้างโดยใช้เครื่องมือเดิม license marketing เพราะในเกาหลีหรือญี่ปุ่น การทำซูวีเนียร์จากศิลปินหรืออุตสาหกรรมเพลงมียอดขายกว่า 90%ของรายได้ ส่วนรายได้จากการขายตั๋วคอนเสิร์ตไม่ถึง 5% แต่ในประเทศไทยหรืออาเซียนตัวเลขกลับตรงกันข้าม คือรายได้จากการขายตั๋ว 99%
นอกจากนี้เสื้อสถาบันการศึกษาเป็นอีกหนึ่งไลน์เซ่นส์ที่น่าสนใจ มหาลัยดังๆในต่างประเทศมีพื้นที่ขายซูวีเนียร์นับพันตารางเมตร แต่สถาบันการศึกษาในประเทศไทยแทบไม่มีพื้นที่ขายซูเนียร์มหาวิทยาลัยเลยนี่เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับ “WARRIX” ที่จะเข้าไปชิม ไปแตะ ในอนาคต รวมทั้งสินค้า Non-license เช่นเสื้อแบรนด์ “WARRIX” ด้วย
“เสื้อ warrix ที่เป็นNon-Licensed สามารถขายได้ในสัดส่วน 3-9 ตัว เมื่อเทียบกับลูกค้าที่มาซื้อเสื้อไลเซ่นส์ 1 ตัว นั้นหมายความว่าลูกค้าที่ซื้อเสื้อไลเซ่นส์ ตัวแรกเราสามารถใช้ data management และเครื่องมือทาง e-commerce ทำให้เขาซื้อสินค้าได้อีก 3-9 ตัวนั่นคือรายได้อีก 80% ที่เพิ่มขึ้นจากฐานลูกค้าที่เราได้จาก ไลเซ่นส์”
ขณะเดียวกัน “WARRIX” ยังให้ความสำคัญกับ SDG หรือคาร์บอนเครดิตโดยทำเสื้อรีไซเคิลให้กับสโมสรฟุตบอลระดับจังหวัด รวมทั้งเสื้อรีไซเคิลออกขายจำนวนหลายหมื่นตัวต่อปีจากเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเสื้อกว่า 1.3 ล้านตัวต่อปี และหากใช้วิธีการย้อมแบบไม่ใช้น้ำซึ่งทำได้เฉพาะสีดำเท่านั้น จะทำให้มีคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการไม่ทำน้ำเสียได้อีกจำนวนมาก ดังนั้นในปี 2566 บริษัทจะเริ่มมองหาความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเศษผ้าที่เหลือไปทำยูนิฟอร์มบริษัท หรือทำเสื้อกีฬาประมาณหนึ่งล้านตัว
อย่างไรก็ตามผู้บริหารเชื่อว่า“WARRIX” จะเติบโตไปได้ถ้าไม่ถูกจำกัดเรื่องเงินทุน เมื่อเข้าสู่ตลาดทุนและเดินต่อหน้าอย่างระมัดระวังก็สามารถสร้างความเติบโตได้อย่างUnlimited growth ดังนั้น chapter ใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นของ “WARRIX” หลังจากนี้จะเกิดขึ้นจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์maiภายในปี 2565นี้
“ เมื่อเราใช้เครื่องมือทางการตลาดถูกต้องกับใช้ทรัพยากรของบริษัทที่เรามีอย่างลงตัวผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ 9 ปียอดขายบริษัทพันล้านซึ่งไม่ง่ายที่จะเป็นยอดขายจาก 0 จะขึ้นมาเป็นพันล้านใน 9 ปี ซึ่งตลอดระยะ 9 ปีเรามีทั้งความได้เปรียบ เสียเปรียบ เนื่องจากเป็น SME ที่เติบโตจากตลาดที่พึ่งพาตลาดเงินไม่ได้เข้าสู่ตลาดทุน แบงก์ก็ซัพพอร์ตเราดีที่สุดเท่าที่แบงก์จะซัพพอร์ตได้ แต่ยังดีไม่พอที่จะทำให้ “WARRIX” เติบโตไปอย่าง Unlimited growth ”
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม เปิดเผยว่า จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปลดล็อค working capital ที่ไม่เพียงพอในอดีต เพื่อจะสร้างการเติบโตทางด้านยอดขาย ศักยภาพในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ และเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน
นอกจากนี้เม็ดเงินส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ขยายศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งที่ 3 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของ “WARRIX” ส่วนสุดท้ายจะใช้ลงทุนใน data management เฟส 2 และเฟส 3 เพื่อวางระบบ supply chain การสั่งซื้อหรือแม้กระทั่งการทำนายยอดขายจากพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง
ในส่วนของต่างประเทศปัจจุบันมีการจัดตั้งบริษัทในสิงคโปร์และมาเลเซีย เพื่อเตรียมขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นศักยภาพในการเติบโตของ“WARRIX”ในระยะยาวจะมีความต่อเนื่องด้วยเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำทางด้าน sport health and lifestyle ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬามีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 15-20% ต่อปี โดยปัจจุบันรายได้หลักของ “WARRIX” มาจากการจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม Non-Licensed ได้แก่ สินค้าคลาสสิก 34.90% สินค้าคอลเลกชัน 28.26%และสินค้าทำตามคำสั่ง (Made to Order) 16.21%
ขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือจะมาจากสินค้าในกลุ่ม Licensed ซึ่งประกอบด้วย สินค้าฟุตบอลทีมชาติ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 12.68% สินค้าสโมสรฟุตบอล 3.99% และสินค้าลิขสิทธิ์อื่นๆ 1.89% นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าอื่นๆ อีก 0.54% และรายได้จากการให้บริการคลินิกกายภาพอยู่ที่ 0.47%