นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรี-สกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วอริกซ์ สปอต จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายเสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ “วอริกซ์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทเตรียมทุ่มงบประมาณจำนวนกว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาช่องทางการทำตลาดทางด้านออนไลน์ เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคในการสั่งเสื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และตอบรับกับกระแสของอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
ทั้งนี้ การพัฒนาช่องทางออนไลน์ดังกล่าวนี้ บริษัทต้องการให้ระบบอี-คอมเมิร์ซมีประสิทธิภาพเทียบเท่าแบรนด์ใหญ่ในระดับโลก โดยเป็นการมองกลยุทธ์เรื่องของจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Place) ซึ่งจากการพิจารณาแล้วเห็นว่าการเปิดออนไลน์ช็อปจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการเปิดช็อปแบบออฟไลน์ โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบทางด้านต่างๆประมาณ 1 ปี เพื่อให้ระบบเชื่อมต่อกันทั้งหมด
สำหรับการดำเนินงานนั้นจะเป็นการเชื่อมต่อทั้งเรื่องของระบบการชำระเงิน (Payment) ในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นระบบตัดจากบัตรเครดิต หรือนวัตกรรมฟินเทค, ระบบคลังสินค้า ซึ่งจะแยกออกมาเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อรองรับช่องทางดังกล่าวโดยเฉพาะ อีกทั้งยังเรื่องของการว่าจ้างบริษัทจากภายนอกเพื่อดูแลเรื่องระบบการจัดส่งของ และเชื่อมต่อระบบกับ DHL เพื่อให้ลูกค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ได้รับทราบถึงรหัสของสินค้าตามสถานการณ์จัดส่ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นเสมือนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า (Big data)
นอกจากนี้ ยังจะมีแอพพลิเคชันสำหรับผู้ที่เล่นกีฬาฟุตบอล ทั้งเรื่องของการจองสนาม รวมถึงขึ้นทะเบียนเป็นนักกีฬาสมัครเล่น และนักกีฬา โดยการให้บริการจะสามารถเป็นได้ทั้งช่องทางในการจองสนามเพื่อเตะฟุตบอล และการรวมผู้เล่นที่ไม่รู้จักกัน แต่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันให้มารวมกลุ่มเพื่อเล่นฟุตบอลด้วยกันได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะมาจากการลงทะเบียนของลูกค้า และ วอริกซ์ จะเป็นคนกลางที่ประสานงานเชื่อมต่อผู้เล่นให้ได้มาเจอกัน และสุดท้ายอาจจะพัฒนาไปสู่การแข่งขันในระบบลีกของนักฟุตบอลสมัครเล่น โดยร่วมมือกับผู้พัฒนาแอพพลิเคชันแห่หนึ่ง ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะเป็นการบูรณาการโลกของการตลาดให้เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่ทั้งหมด
นายวิศัลย์ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันช่องทางออนไลน์ของบริษัทเปิดให้บริการแล้วประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากนี้บริษัทก็จะดำเนินพัฒนาในขั้นตอนต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้ลูกค้าจากต่างประเทศสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้ โดยใช้แนวทางการจัดตั้งศูนย์กลาง หรือฮับ (Hub) ประจำภูมิภาค ทำหน้าที่ในการ
กระจายสินค้า โดยขณะนี้บริษัทมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ที่กัวลาลัม เปอร์ประเทศมาเลเซีย ซึ่งภายในปีนี้ระบบออนไลน์ของมาเลเซีย และญี่ปุ่นจะเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบ วอริกซ์ ในประเทศไทย โดยมีระบบแปลภาษาแบบง่ายในการเชื่อมต่อ เพื่อทำให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก
“ไม่เชื่อว่ากลยุทธ์การเปิดช็อปออฟไลน์จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในยุคนี้ เพราะมองว่าอนาคต จะเป็นโลกของตลาดออนไลน์ โดยการทำตลาดออนไลน์ยังจะทำให้บริษัทมีข้อมูลของลูกค้าทั้งหมด เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ในส่วนของความร่วมมือทางด้านการทำธุรกิจวอริกซ์ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของปั๊มนํ้ามันพีทีในการทำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายในมินิมาร์ทของปั๊ม โดยล่าสุดได้เริ่มเข้าไปทดลองจำหน่ายแล้ว 10 สาขา บนทำเลที่เป็นจุดออกต่างจังหวัด อีกทั้งยังร่วมมือกับบริษัท แมคกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายในร้านแมคยีนส์ เพื่อเป็นขยายฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีกลุ่มลูกค้าที่ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดี บริษัทยังได้ร่วมมือกับแบรนด์ สูท ซีเล็ค (Suit Select) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสูตจากประเทศญี่ปุ่น ในการทำสูตแบรนด์ วอริกซ์ ดีไซน์แอนด์เดเวลลอปบายสูท ซีเล็ค เพื่อทำให้กับนักกีฬาทีมชาติ และมีสูตแบบครบชุดทั้งเสื้อ,กางเกง, รองเท้า และเครื่องหนังแบรนด์ วอริกซ์จำหน่ายที่ร้าน สูท ซีเล็ค
บริษัทกำลังดำเนินการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยคาดว่าจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการ หรือไฟลิ่งในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ตอนเริ่มก่อตั้งบริษัท โดยบริษัทได้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี และที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วยดูแล เพื่อเข้าสู่ตลาด MAI โดยการจดทะเบียนใน ตลท. จะทำให้บริษัทมีเงินทุนในการขยายธุรกิจ รวมถึงมีเงินทุน และมีความน่าเชื่อถือในการเข้าไปประมูลลิขสิทธิ์ไลเซนในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับบริษัทต่อไป
หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3384 วันที่ 19-21 กรกฎาคม 2