หลังจากเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง "อาหารพร้อมทาน" ในร้านสดวกซื้อ "เซเว่น อีเลฟเว่น" มานานพร้อมๆกับการส่งโพรดักซ์อาหารรองท้องกลุ่มเบเกอรี่และของหวานเข้าเชลฟ์เซเว่น อีเลฟเว่นมาหลายปี ล่าสุด NSL Foods พร้อมที่จะเติบโตในเส้นทางใหม่ที่เป็นผึกความแข็งแกร่งในเรื่องอาหารคาวและอาหารรองท้อง ภายใต้ผลิตภัณฑ์ใหม่ “ข้าวแท่ง” หรือข้าวมือถือ เจาะตลาดเรดดี้ทูอีท (Ready to Eat)
นายสมชาย อัศวปิยานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า NSL Foods เริ่มต้นจากการทำธุรกิจเบเกอรี่มาก่อนจนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเบเกอรี่ที่มีความแข็งแกร่งแล้วNSL Foodsยังมีเป้าหมายที่จะเข้าสู่ Food Service อื่นๆ รวมทั้งเข้าสู่ตลาดอาหารพร้อมทานโดยมี product ตัวแรกเป็นนวัตกรรม “ข้าวแท่ง” ซึ่งเป็นอาหารพร้อมทานเวอร์ชั่นใหม่
โดยใช้เทคโนโลยีขึ้นรูปข้าวสวยให้เป็นแบบแท่ง มีไส้อยู่ตรงกลาง สามารถถือรับประทานได้ในมือเดียว เพื่อความสะดวกในช่วงเวลาที่เร่งรีบ โดยมีทั้งเมนูคาวหวานที่เหมาะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ รวม 18 เมนู ซึ่งกลุ่มอาหารคาวจะเน้นอาหารสตรีทฟู้ดที่คนไทยคุ้นเคย อาทิ ข้าวกะเพราไก่คลุก, ข้าวผัดหมู, ข้าวไก่กระเทียม, ข้าวเหนียวหมูย่าง, ข้าวเหนียวลาบหมู ขณะที่อาหารหวานเน้นขนมหวานสไตล์ไทยฟิวชั่น อาทิ ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน, ข้าวเหนียวสังขยาน้ำตาลอ้อย, ข้าวเหนียวเผือกแปะก๊วยและข้าวเหนียวซุปครีมข้าวโพด
ทั้งนี้บริษัทได้เปิด Flagship store แห่งแรกภายใต้ชื่อ Rice Bar by NSL สยามสแควร์วัน เพื่อสร้างการรับรู้และแนะนำสินค้าสู่ตลาด รวมทั้ง Food Truck 1 คันซึ่งตะเวนไปในโลเคชั่น Office buildings เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และพนักงานออฟฟิศให้ได้มากที่สุด
ซึ่งในอนาคตสำหรับการขยายธุรกิจในประเทศบริษัทตั้งเป้าที่จะขยายในระบบแฟรนไชส์และขยายด้วยตัวเอง โดยตั้งเป้าที่จะเปิดสาขาเพิ่มเติมในโลเคชั่น Office building สถานีขนส่งเช่น BTS อารีย์,หมอชิต รวมไปถึงตู้ vending Machine จำนวน 50 ตู้โดยในเฟสแรกจะเริ่มจาก 10 ตู้เพื่อเจาะกลุ่มคนเดินทางพนักงานออฟฟิศและมหาวิทยาลัย
“เรามีเบเกอรี่เป็นอาหารรองท้อง เป็นสินค้าที่สร้างชื่อให้กับบริษัท ซึ่งเราอยากจะขยายพอร์ตของอาหารรองท้องที่ไม่ใช่เบเกอรี่ แต่ใช้ข้าวแทนซึ่งเราไม่ได้เจาะจงเฉพาะตลาดในประเทศที่คาดว่าจะขยายในรูปแบบของแฟรนไชส์ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการของการเซ็ตระบบเท่านั้นแต่เรายังต้องการให้เป็น Soft Power ในการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้เรามองไปที่ตลาดเอเชียและยุโรปซึ่งให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นอย่างมาก
หลังจากนี้เราจะมีการพัฒนาสินค้าโดยใช้ข้าวสายพันธุ์ต่างๆเพิ่มเข้ามารวมทั้งเมนูอื่นๆสับเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อสร้างความหลากหลายทุกไตรมาสอย่างน้อย 2 เมนู นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายเข้าสู่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นโดยจะต้องปรับปรุงสินค้าให้สามารถปิ้งในเตาอบได้และให้แมชกับอุปกรณ์ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมีอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีแรก 2566 สำหรับผลิตภัณฑ์ “ข้าวแท่ง” ราวๆ 50 ถึง 60 ล้านบาทขณะที่ภาพรวมบริษัทสามารถทำรายได้9 เดือนแรกของปี 2565 กว่า 3,200 ล้านบาท จาก รายได้จากการรับจ้างผลิต (OEM) กลุ่มแซนวิช เอแคลร์ ภายใต้แบรนด์อีซี่เทสต์ อีซี่สวีท และเซเว่น เฟรช ให้แก่เซเว่น อีเลฟเว่น เป็น 85% รายได้จากการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง ในกลุ่มเบเกอรี่และขนมขบเคี้ยว ได้แก่ บัตเตอร์ฟิน ชิลี เนเชอรัล ไบท์ และปังไท คิดเป็น 15%
ในอนาคตบริษัทต้องการปรับลดสัดส่วนรานได้จากธุรกิจ OEM ให้แก่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นให้เหลือเพียง 70% และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าในแบรนด์ของตนเอง 30% และสำหรับปี 2565 วางเป้าการทำรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564ที่มีรายได้ 3,000 ล้านบาท
นอกเหนือจากอาหาร ready to eat แล้วบริษัทยังมีแผนที่จะขยายสินค้าในกลุ่มของ อาหารพร้อมทานในอุณหภูมิปกติซึ่งจะเน้นตลาดส่งออกไปยังจีนยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก รวมไปถึงอาหาร กลุ่มอาหารแช่แข็ง เพื่อส่งเข้าโลตัสเป็นต้น