THG ย้ำชัดไทยไม่หลุดแชมป์ “Healthcare Hub”

14 ธ.ค. 2565 | 10:09 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 21:30 น.

THG เผย เฮลท์แคร์ไทยหลังโควิดยังเข้มแข็ง ไม่หลุดแชมป์ “Healthcare Hub” ของภูมิภาค ส่งสัญญาณบวก "เมดิคอล ทัวริซึม" เริ่มกลับเข้ามาเกิน 50% ปัญหาเดียวของไทยคือ บุคลากรแพทย์-พยาบาลไม่เพียงพอให้บริการ

ธุรกิจ Healthcare & Wellness คือหนึ่งธุรกิจที่ในช่วงโควิดไม่ค่อยได้รับผลกระทบและยังคงเติบโตได้ดีและปัจจุบันเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในแง่ของ "เมดิคอล ทัวริซึม" ที่เริ่มทยอยกลับมาบวกกับหลายฝ่ายให้การสนับสนุนผลักดันให้เกิด คือ Healthcare Hub แห่งภูมิภาค ทั้งการเติมบุคลากร เติมเทคโนโลยีและเติมภาคบริการ  

“นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG

“นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG เปิดเผยบนเวทีสัมมนา Go Thailand : Recession or Resurrection ถดถอย VS พลิกฟื้น  ว่า ในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่อง 1คือ health litteracy การตื่นรู้ทางด้านสุขภาพของประชาชน มีการค้นหาความรู้และข้อมูลทางด้านสุขภาพในเชิงลึกมากขึ้น แต่การค้นหาข้อมูลผ่านออนไลน์บางส่วนเป็นข้อมูลเท็จก็จะเป็นความกังวลของแพทย์เช่นกัน

 

เรื่องที่ 2 Digital literacy and tech  นับตั้งแต่เดลต้าเวฟเป็นต้นมา ดิจิตอลเฮลท์เทคหรือเทเลเฮลท์ถูกนำมาใช้มากกว่า  10 ปีก่อนเกิดเดลต้าเวฟรวมกัน  THG มีแพทย์ทางไกลคู่กับโรงพยาบาลสนาม 4-5 พันเตียง และใช้เทเลเมดิซีนในการสื่อสารทำให้แพทย์ พยาบาลถนัดใช้มากขึ้น คนไข้เองก็ใช้เทคโนโลยีคล่องขึ้นและสุดท้าย Affordability ที่ช้าลงและต่ำลงมาก
THG ย้ำชัดไทยไม่หลุดแชมป์ “Healthcare Hub”

นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำยังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากขึ้นในช่วงโควิด ในช่วงการแพร่ระบาดคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนน้อยมาก เพราะคนไข้เกิดความกังวลและเลือกเก็บเงินเพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  THG เองก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอุตสาหกรรมจะเกิดอะไรขึ้นเช่นกัน แต่ 2 ปีผ่านภาพของเฮลท์แคร์ของไทยเห็นชัดว่าอยู่ในกราฟขาขึ้น  ในขณะเดียวกันบางประเทศอยู่ในช่วงขาลง เช่นสงครามรัสเซียยูเครน สถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ ทั้ง 2 ส่วนนี้จะทำให้บุคคลในเซกเมนต์นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้ความเหลื่อมล้ำหลังจากโควิดมีมากขึ้น

 

“เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าทุกๆวิกฤตใหญ่ต่อไปจะเกิด “champion” ใหม่ ช่วงวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งทำให้ในปี 2000 เราเริ่มทำ medical tourism และปี 2003 เราสามารถแซงหน้าสิงคโปร์ และเราใช้เวลาพัฒนาดิจิทัลเฮลท์แคร์มากว่า 20 ปี ซึ่งในช่วงนั้นก็จะเกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้ได้แรงเสริมจากรัฐบาล  ตอนนี้เรากำลังจับตามองว่าในปีนี้ 2023 จะเกิดแชมป์ตัวใหม่หรือไม่ ตอนนี้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาไม่ได้เต็มที่ แต่ “เมดิคอล ทัวริซึม” กลับมาประมาณ 50% จากฝั่งกัมพูชา อาหรับและเมียนมาร์ ซึ่งมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วไปเพราะคนไข้จงใจเดินทางเข้ามารักษาเพราะป่วย ดังนั้นด้านนักท่องเที่ยวเราไม่กังวลมากเพราะถ้าเปิดประเทศเมื่อไหร่ คนไข้เหล่านี้มีกำลังซื้อและถ้าไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการตรวจโรคหรือวีซ่าคนไข้จะกลับมามาแน่นอน 

 

ส่วนคู่แข่งทางด้าน healthcare  hub ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงเพราะ20 ปีที่ผ่านมาเราเป็นแชมป์มาตลอดและไม่เคยเสียแชมป์เลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ หรือความเข้มข้นและความยากในการรักษาพยาบาล รวมถึงระดับทั่วๆไป แต่ปัญหาอย่างเดียวของไทยก็คือกำลังพลทั้งคุณหมอและพยาบาลขาดแคลน”