แนะทางออกทิ้ง LINE หาแพลตฟอร์มใหม่แทน

28 ธ.ค. 2565 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2565 | 15:19 น.

สมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ ชี้ปิดบริการ LINE IDOL โยกผู้ประกอบการลง LINE OA ดันต้นทุนพุ่งหลายเท่าตัว ชง 2 ทางออก “เปิดหน้าเจรจาหั่นราคา - ทิ้งไลน์หาแพลตฟอร์มอื่น”

หลังจากที่แอปพลิเคชันชื่อดัง LINE ประกาศปิดการให้บริการ LINE IDOL ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และให้ลูกค้าย้ายไปใช้บริการ LINE official account หรือ LINE OA ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารแทน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นเหตุให้ต้นทุนพุ่งหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้หลายหน่วยงานออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของไลน์ในประเทศไทย

 

ล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ชี้ว่ากรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 50 วงเล็บ 3 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดในการจำกัดการให้บริการ เพื่อหาวิธีเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับบริการเพิ่มอย่างไม่เป็นธรรม  พร้อมเข้ามาตรวจสอบข้อมูลและนำเข้าที่ประชุม กขค. หลังช่วงปีใหม่นี้

 

นายภวัต เรืองเดชวรชัย อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT)  และประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด (MI) กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีนี้แม้ไม่ได้มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอเจนซี่ในวงกว้าง แต่แน่นอนว่ามีผลต่อสื่อที่เดิมใช้งานอยู่บน LINE IDOL และต้องโยกมาอยู่บน LINE OA  ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม  จึงส่งผลต่อต้นทุนของสื่อเอง

 

ดังนั้นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการสื่ออาจต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้น หรืออาจปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณา โดยผลักภาระให้กับเอเจนซี่หรือแบรนด์ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเอเจนซี่ หรือแบรนด์ตามไปด้วย อย่างไรก็ดีน่านน้ำนี้มีสื่อหลายรูปแบบ บางรูปแบบอาจไม่พึ่งพา LINE OA ก็ได้

 

 

“ถ้ามองในเชิงผู้ประกอบการสื่อ ผลกระทบคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นแน่นอน แต่เมื่อ LINE IDOL ไปต่อไม่ได้ ก็ต้องเกิดการรวมระบบนิเวศ เหมือนการทำ LINE TV ที่ยุติไปก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้บริโภคต้องหันไปหาคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มอื่นแทน”

ภวัต เรืองเดชวรชัย

อย่างไรก็ดี การโยกไปอยู่ LINE OA ซึ่งมีแพ็คเกจการขายกำหนดไว้อยู่แล้ว หากยอดวิวสูงเกินที่กำหนดก็จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม ในมุมหนึ่งสื่อเองก็มีโอกาสทำรายได้จากความนิยมในแฟนเพจ ซึ่งสื่อก็ต้องคำนวณว่า การขึ้นราคาในระดับหนึ่ง หรือแบกรับภาระระดับหนึ่ง ขึ้นต้นทุนกับแบรนด์หรือเอเจนซี่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจทำให้สมดุลดีขึ้น

 

ขณะที่อีกมุมมอง คือ  การหันไปโฟกัส แพลตฟอร์มอื่น เพราะเมื่อแพลตฟอร์มนี้ปิดตัวลง จะกระโดดเข้าไปในระบบนิเวศ ของ LINE OA  ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็ควรหันไปแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งปัจจุบันสื่อเอง มีการนำเสนอในหลายแพลตฟอร์ม

 

 

“สื่อเองเป็นแม็กเน็ตในการดึงคนเข้าไปในยูสเซอร์ ของไลน์ หากมีการขึ้นราคาและยกเลิกแพลตฟอร์มไลน์ไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อไลน์เช่นกัน ดังนั้นจุดที่เหมาะสม คือการลดราคา หรือคิดราคาเหมา หรืออัตราก้าวหน้า เพื่อให้สื่อไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูง "

 

อีกทางออกคือ ผู้ประกอบการสื่อ เลือกที่จะไม่ใช้ไลน์ และหาแพลตฟอร์มอื่นที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งวันนี้การที่หลายสื่อเริ่มไม่เห็นด้วยกับไลน์ เราก็เชื่อว่าหลายสื่อ จะไปโฟกัสที่แพลตฟอร์มอื่น เพราะเป็นความยั่งยืน ระยะยาว

 

นายภวัต กล่าวอีกว่า LINE OA เป็นแพลตฟอร์มในการหาเงินของไลน์อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องโดนต้นทุนตรงนี้เพิ่ม วันนี้เชื่อว่าสื่อหลายรายอาจจะมองไกลๆว่า ปีหน้าก็ยอมจ่ายตรงนี้เพิ่ม แต่ระยะยาวต้องไปโฟกัสที่แพลตฟอร์มอื่น ซึ่งสื่อก็มีทางเลือกอยู่แล้ว เพราะสื่อเองไม่ได้ทำอยู่บนไลน์ 100%  วันนี้ สมมุติไม่มีแผ่นดิน เราจะไปหาแผ่นดินใหม่ก็ไม่ใช่ แต่เพียงเราย้ายแผ่นดิน ไปยังแผ่นดินอื่นที่เรามีตัวตนอยู่  

 

อย่างไรก็ดี หลังการปิดให้บริการ LINE IDOL  ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ผลิตคอนเทนต์ และสื่อมวลชนต้องโยกไปอยู่ LINE OA ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 5,000-10,000 บาทต่อเดือน เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน จากในราคาแพ็คเกจที่กำหนดไว้ใน LINE OA นั้นมีการจำกัดจำนวนข้อความที่ส่งไว้

 

หากเกินจากนั้นจะคิดค่าบริการการส่งเพิ่มเติม เช่น แพ็คเกจ 1,500 บาท จะจำกัดการส่งข้อความไว้ที่ 35,000 ข้อความ หากเกินจากนั้นจะคิด 0.04 บาทต่อหนึ่งคนที่ได้รับการส่งข้อความ(ราคายังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและสื่อมวลชนมีภาระค่าใช้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นหลักหลายล้านบาทต่อเดือนและต่อปี