หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย “การท่องเที่ยว” ถือเป็นความหวังใหญ่ในการฟื้นเศรษฐกิจไทย ขณะที่ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” หรือ Medical Tourism เป็นแขนงหนึ่งที่ถูกจับตามอง เพราะในอดีตสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้มากกว่า 2.47 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2562 ก่อนที่จะร่วงลงอย่างหนักในปี 2563-2564 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยต้องปิดประเทศ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี วิเคราะห์ถึง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยว่า ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเร็วเกินคาด หลังจากเปิดประเทศไปในช่วงกลางปี 2565 และการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2566 จะทำให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน หรือทำรายได้กว่า 2.48 หมื่นล้านบาท ดังนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารับบริการ
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่มีการเปิดประเทศรายได้ของบำรุงราษฎร์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สัดส่วนคนไข้ต่างชาติขยับขึ้นมาเป็น 60% จากช่วงโควิดที่ดรอปลงไปอยู่ที่ 30% โดยต่างชาติที่เข้ามารักษาเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นเมียนมา และประเทศที่เข้ามารับการรักษามากขึ้นคือ กาตาร์ คูเวต บังกลาเทศ กัมพูชา และซาอุดิอาระเบีย ส่วนรายได้จากคนไข้ชาวจีนอยู่ที่ประมาณ 2% ในช่วงโควิดเริ่มมีคนจีน ที่อยู่ใน CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว และเวียดนามเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
“บำรุงราษฎร์สามารถรองรับเมดิคอล ทัวริซึมได้ เพราะมีการรับการรับรองจาก JCI,A-HA,GHAและCAP เรามีมาตรฐานคุณภาพที่จะดูแลผู้ป่วยต่างประเทศที่อยากเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย มีคำแนะนำการเตรียมตัว และข้อมูลทุกๆ ด้านทั้งเรื่องการแพทย์ ค่าใช้จ่ายและการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย ซึ่งเราเองมี Medical Station ดูแลการเคลื่อนย้ายคนไข้ให้มีความปลอดภัย รวมถึงการเข้ามารักษาและการส่งต่อ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมหลังจากเปิดประเทศนักท่องเที่ยวต่างชาติกล้าที่จะเข้ามาท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย เพราะมาตราฐานต่างๆที่โรงพยาบาลในไทยได้รับทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือผู้ป่วยต่างชาติมีความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นี่เป็นนิยามของคำว่า Quality and safety”
นอกจากนี้บำรุงราษฎร์ยังมี VIP service ดูแลผู้ป่วยต่างชาติและสถานที่สำหรับรองรับ expat และผู้ป่วยต่างชาติ รวมทั้งล่ามช่วยแปล 33 ภาษาเกือบ 200 คนเพื่อรองรับผู้ป่วยจากต่างชาติจากกว่า 200 ประเทศ นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีล่ามดิจิตอล 4 ภาษา คือภาษาอารบิก ภาษาเมียนมา ภาษาบังคลาเทศและภาษาจีน เพื่อลดเวลาในการตามล่ามเพราะล่ามเป็นอาชีพที่หายากมากในปัจจุบัน
ภญ. อาทิรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายธุรกิจหันมาสนใจการเปิด “โรงพยาบาลเอกชน” มากขึ้น แต่หัวใจสำคัญของการเปิดโรงพยาบาลคือ คุณภาพและความปลอดภัย บำรุงราษฎร์ มีจุดหมายที่ชัดเจนว่าต้องการทำเพื่อผู้ป่วยและต้องการส่งมอบคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด เพราะฉะนั้นทิศทางของบำรุงราษฎร์ในการขยายธุรกิจต่อไปจะชัดเจนใน Vision ตัวใหม่คือ มุ่งเน้นตั้งแต่เชิงป้องกัน การวินิจฉัย ค้นหาความเสี่ยง เพื่อนำมาวางแผนไม่ให้คนเจ็บป่วย จึงมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ทันสมัยและทัดเทียมกับโรงพยาบาลในต่างประเทศ เพราะจุดมุ่งหมายของบำรุงราษฎร์คือต้องการมีโรงพยาบาลที่ดีที่สุด 1โรงพยาบาลที่เป็นที่พึ่งของคนไทยและคนที่อยู่ในประเทศไทยได้
“โรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจนี้มีความต้องการในเรื่องของ passion และความเป็นมืออาชีพ ความเป็น Professional และความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆที่จะต้องเดินไปด้วยกันเป็นทีม ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดของโรงพยาบาลไม่มาก เพราะเข้ามาได้ยากมากต้องเตรียมการหลายอย่าง เรื่องของ passion และความมุ่งมั่นที่จะต้องมีสูงเป็นพิเศษ”
นอกจากธุรกิจโรงพยาบาลแล้ว “เวลเนส” ยังเป็นธุรกิจที่หลายธุรกิจให้ความสนใจ เพราะปัจจุบันคนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกช่วงอายุหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้นแม้แต่บริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรงยังโดดเข้ามาเล่นในธุรกิจนี้ เช่น Amazon ที่ขยายการลงทุนซื้อ One Medical มูลค่าประมาณ 142,000 ล้านบาท ดังนั้น เวลเนส จะเป็นตัวเร่งให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตัวเองหรือการดูแลสุขภาพของคนเปลี่ยนไป ถ้าเราต้องการเป็น destination ของสุขภาพเราต้องครอบคลุมทั้งในเชิงของการป้องกันและการรักษา
ด้านนพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ปีนี้คาดว่า จะเป็นปีที่ดีของโรงพยาบาล จากการที่จีนเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนธุรกิจเฮลท์แคร์อยู่แล้ว ตามสถิติปี 2565 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแค่ 1 ใน 4 ของช่วงก่อนโควิด แต่กว่า 50% ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นคนไข้ที่เข้ามารับการรักษา นั่นหมายความว่า เมื่อมีการเปิดประเทศคนที่ป่วยจะวิ่งเข้ามาก่อนนักท่องเที่ยวทั่วไปเพราะจำเป็นต้องได้รับการรักษา ดังนั้นเชื่อว่าปีนี้ นักท่องเที่ยว Medical Tourism จะกลับเข้ามารักษาเกือบ 100% แน่นอน ถ้าไม่มีแบริเออร์เรื่องวีซ่าและการตรวจแบบ RT-PCR รวมทั้งเรื่องเที่ยวบินเพียงพอและไม่มีการกักตัว
“โรคยากๆในอดีต คนไข้ต้องการรักษาในต่างประเทศ แต่ไม่มีข้อมูลว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาที่ประเทศไทยหรือมาแล้วจะได้รับการรักษาอย่าง ราคาเท่าไร แต่ตอนนี้คนไข้สามารถรู้รายละเอียดก่อนว่า ต้องรักษาอย่างไร ราคาเท่าไร ทำให้คนไข้จะเห็นภาพชัดขึ้นและตัดสินใจได้แม่นยำขึ้นเพราะฉนั้นเผลอๆคนไข้โรงพยาบาลจะเยอะกว่าเดิมและหนักกว่าเดิมเพราะรับเคสโรคซับซ้อนมากขึ้น”
ปัจจุบัน THG อยู่ระหว่างการพัฒนา Telehealth และทดลองใช้ในกลุ่มโรงพยาบาลของ THG เช่น ผลแลป ยา หรือเอกซเรย์ Telemedicine ที่ผ่านมา ถูกนำใช้ในช่วงโควิดเพื่อให้หมอใช้คุยกับคนไข้นับหมื่นเคส เพราะฉะนั้นตอนนี้ในกลุ่มโรงพยาบาล THG เริ่มเชื่อมต่อระบบบางส่วนแล้ว ส่วนในต่างประเทศใช้การส่งข้อมูลผ่าน Social Media และใช้ Telemedicine ในระบบของแพทย์คุยกับแพทย์ แต่ในระยะต่อไปจะเริ่มส่งผ่านข้อมูลผ่านระบบ Internal Platform ของ THG เอง
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,859 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566