สื่อนอกบ้าน (OOH) ที่ฟื้นตัวในปี 2565 หลังจากประชาชนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น โดยปี 2565 คาดว่ามีเม็ดเงินโฆษณาราว 10,900 ล้านบาท สัดส่วน 13% ของอุตสาหกรรมโฆษณาทั้งหมด
นางสาวอัยย์ญดา ทองเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดฮับ (Ad Hub) จำกัด เปิดเผยว่า สื่อนอกบ้านหรือ Out-of-Home Media (OOH) กลายมาเป็นตัวกลางที่สื่อสารได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความคล่องตัว และมีประโยชน์กับแบรนด์ต่างๆ อย่างที่เชื่อถือได้ การเลือกใช้สื่อ Out-of-Home สิ่งแรกที่แบรนด์จะต้องให้ความสำคัญนั่นก็คือ ความครีเอทีฟบนพื้นที่โฆษณานั้นๆ ไม่ใช่แพลตฟอร์มมาก่อน เพราะสื่อบนรถขนาดเล็กสามารถหยิบยื่นให้ได้ทันทีคือ กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนผ่านการติดตามผลบนแอปพลิเคชัน และความใกล้ชิด (proximity) ที่ยานพาหนะอื่นๆ ให้ได้ไม่เท่ากัน
สื่อ Out-of-Home ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ป้ายโฆษณากลางแจ้ง หรือตามอาคารเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ป้ายโฆษณาที่อยู่ในลิฟต์ ป้ายโฆษณาในสนามบิน ป้ายตามสถานีขนส่งมวลชนและภายในพาหนะเหล่านั้น ไปจนถึงป้ายตามภายนอกยานพาหนะขนส่งมวลชนต่างๆ ที่คุ้นตาว่าจะมีป้ายโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ติดอยู่รอบคัน
ล่าสุด ป้ายโฆษณาตามรถตุ๊กตุ๊กและรถยนต์ที่หลายๆ แบรนด์หันมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะความคล่องตัวของยานพาหนะที่เข้าได้บนถนนแทบทุกที่ สามารถคลอบคลุมพื้นที่เป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ Out-of-Home แบบรถยนต์ หรือรถตุ๊กตุ๊กยังเปิดโอกาสให้แบรนด์ หรือในบางกรณีคือผู้ซื้อโฆษณาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ สร้างการเกิดประสบการณ์ร่วมกับผู้คนบนท้องถนนได้ เมื่อเบื่อการจราจรที่ติดขัดก็สามารถหันไป “เปิดประสบการณ์” กับแบรนด์ผู้ร่วมเดินทางได้
ปี 2565 ที่ผ่านมา มีการใช้บริการสื่อโฆษณาบนรถยนต์ และรถตุ๊กตุ๊ก เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจกลุ่ม SMEs ที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบตามพื้นที่ที่มีตัวแทนจำหน่ายสินค้าอยู่ หรือมีร้านค้าจำหน่ายสินค้าของแบรนด์เอง เพราะสื่อบนรถเล็กแบบนี้สามารถสื่อสารได้ชัดเจน และกลุ่มเป้าหมาย (ทั้งโดยตรงและทางอ้อม) ก็สามารถเข้าถึงได้ในระยะใกล้ๆ ผ่าน QR code การสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษต่างๆ แบบเฉพาะกลุ่ม ก็สามารถทำได้ ต่างกับที่ผ่านมาที่เชื่อว่าหน้าที่ของสื่อนอกบ้านนั้น ทำได้เพียงแค่ช่วยสร้างการรับรู้ (awareness) เพียงอย่างเดียว
ไม่ใช่แค่สื่อดิจิตอลเท่านั้นที่ติดตามผลงานของสื่อได้ การใช้สื่อบนรถเล็กก็สามารถติดตามผลได้เช่นเดียวกันผ่านแอปพลิเคชันเพื่อการติดตามรถยนต์ว่าได้วิ่งไปบนเส้นทางตามที่แบรนด์ต้องการหรือไม่ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับโปรโมชั่น หรือกิจกรรมทางการตลาดที่กำลังนำเสนอให้กับลูกค้าอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ โดยแบรนด์สามารถดีไซน์เส้นทางการเดินรถโดยคร่าวๆ และติดตามผลการดำเนินงานได้ในแบบเรียลไทม์
หากเทียบความคุ้มค่าแล้ว สื่อนอกบ้านตามรถขนาดเล็กนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะรู้แน่ว่าโลเคชั่นที่รถเดินทางอยู่ที่ไหน เวลาไหน ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงมากกว่าสื่ออื่นๆ ผู้อ่านสื่อมีเวลายาวนานขึ้นในการอ่านข้อความหรือมองรูปภาพที่ต้องการสื่อบนป้ายโฆษณานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาพีคของการจราจร
นอกจากนี้ สื่อบนรถเล็กยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มได้ 100% เช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายหลักไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นให้มีโอกาสที่จะเข้าใจ และ engage กับแบรนด์มากขึ้นด้วยและในระยะใกล้ หากว่าแบรนด์ใส่ความคิดสร้างสรรค์ไปบนพื้นที่นั้นได้อย่างเต็มที่ และสถานการณ์ปัจจุบันผู้คนต่างกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ มีการเดินทางทุกวันและตลอดเวลา ทั้งการไปทำงาน หรือทำธุระประจำวันต่างๆ โดยเฉลี่ยแล้วมากถึง 10 – 12 ชั่วโมงต่อวัน “แบรนด์” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “กลับมาใช้ชีวิต” ดังเช่นผู้บริโภค นั่นคือ กลับไปดูว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ตรงไหน และวางแผนสื่อและรูปแบบที่สามารถ engage ได้อย่างชัดเจน ทันท่วงที