"กาแฟปั๊ม" เดือด PTG สปีดแบรนด์ “พันธุ์ไทย” กรุยทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 5 ปี

06 มี.ค. 2566 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2566 | 11:38 น.

ธุรกิจน้ำมันใกล้ถึงทางตัน บิ๊กพลังงานปรับทัพหันขยายพอร์ต Non-oil หนุนสมรภูมิร้านกาแฟในปั๊มฯร้อนฉ่า PTG เร่งสปีดสร้างแบรนด์ “การแฟพันธุ์ไทย” ชิงมาร์เก็ตแชร์ตลาดกาแฟ 2 หมื่นล้านตั้งเป้า 5 ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันมีการแข่งขันอย่างดุเดือด สืบเนื่องจาก ธุรกิจน้ำมัน เติบโตยากจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาช่องทางการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆโดยเฉพาะ Non-oil ให้มากขึ้นกว่าเดิม หนึ่งในธุรกิจที่บิ๊กพลังงานให้หน้ำหนักอย่างมากคือ “ร้านกาแฟ” ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดรวม 28,000 ล้านบาท จากปริมาณการบริโภคกาแฟ  300 แก้วต่อคนต่อปี 

Cafe Amazon
โดยผู้เล่นหลักในตลาดร้านกาแฟในปั๊ม ได้แก่ 1. Cafe Amazonภายใต้การบริหารของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งกินมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 ของตลาดกว่า 40% มีจำนวนสาขากว่า 3,728 สาขา แบ่งเป็นในปั๊มน้ำมัน PTT Station 57% และนอกปั๊มน้ำมัน 43% และในปี OR ตั้งเป้าขยายสาขา Cafe Amazon  ให้ครบ 5,800 สาขา พร้อมกับบุกต่างประเทศทั้ง จีน มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม โอมาน และซาอุดิอาระเบีย ควบคู่ไปกับเปิดตลาดพรีเมียมในกลุ่ม Specialty coffee ผ่านการเข้าถือหุ้น 65%ใน Pacamara Coffee Roasters ของบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด

2.Inthanin Coffee ในมือของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ผู้เล่นเบอร์รอง ที่มีสาขาในมือกว่า 886 สาขา อยู่ในปั๊มน้ำมันบางจาก 59% และนอกปั๊มน้ำมัน 41% พร้อมเป้าหมายการขยายเป็น 1,000 สาขา ในส่วนของตลาดประเทศได้เข้า ลงทุนในประเทศลาวและกัมพูชาตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา

Inthanin Coffee

และ ผู้เล่นเบอร์ 3. PunThai Coffee แบรนด์ลูกรักของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ที่ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาเปิดเกมบุกตลาดอย่างหนักเพื่อชิงตำแหน่งเบอร์ 2 จากมือ BCP ซึ่งปัจจุันมีสาขาในมือกว่า 511เป็นสาขาในปั๊มน้ำมันพีที 70% และสาขาที่อยู่นอกปั๊มน้ำมัน 30% โดยปี 2566 ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 1,500 แห่งและเตรียมผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2527

 

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในปี 2566 นี้บริษัทวางงบการลงทุน 5-6 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นธุรกิจ Oil & Gas 1,000-1,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนในฝั่งธุรกิจ Non-Oil และ New Business หน่วยละกว่า 2,000 ล้านบาท เนื่องจากเดิมบริษัทมีเพียงธุรกิจน้ำมันเป็นเสาหลัก แต่ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจในมือ 8 เสาหลักเข้ามาช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็มของบริษัทให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นและสุดท้ายผลประโยชน์และความสะดวกสบายจะกลับมาอยู่ที่ลูกค้า

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)

" ในอดีตเรามีแต่ปั๊มน้ำมัน จากธุรกิจเดียววันนี้เราต้องการชิปจาก Oil & Gas เป็นธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเราดำเนินการมา 7-8 ปีแล้ว เพราะธุรกิจน้ำมันเรารู้กันดีว่า  EV กำลังจะมาดิสรับ แต่ในมุมมองของเราเรามองว่าอาจจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีแต่แน่นอนว่าเราประมาทไม่ได้สิ่งที่เราทำได้คือการชิปจาก Oil เป็น Non-Oil ให้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เราต้องการให้ในอนาคตสัดส่วนธุรกิจ Oil เป็น 30-40% และ Non-Oil  60-70%” 

PunThai Coffee

ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil ในระยะแรกจะเน้นการลงทุนใน “กาแฟพันธุ์ไทย” ปัจจุบันมี  511 สาขานอกจากการขยายสาขาในปั๊ม PTให้ครบทุกสาขาแล้ว หลังจากนี้จะเริ่มขยายในโลเคชั่นย่าน CBD เพื่อรองรับสังคมเมืองมากขึ้นและส่งผลให้ 1 ปีที่ผ่านมา “กาแฟพันธุ์ไทย” สามารถเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง  60% มีจำนวนสาขา 511 สาขา 

 

โดยในปี 2566 นี้ บริษัทได้วางกลยุทธ์การเติบโต ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 4 ด้าน คือ 1.มุ่งขยายสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทยในรูปแบบของ “แฟรนไชส์” ทั้งภายในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PT 2.รังสรรค์เครื่องดื่มใหม่ ๆ โดยใช้วัตถุดิบที่มีรสชาติดีและหาทานได้ยากจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย 3.เน้น Delivery Platform ให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการรับรู้ (Awareness) การมองเห็น (Visibility) และการเข้าถึงแบรนด์ของลูกค้า (Accessibility) และ 4.นำข้อมูลลูกค้าจากบัตรสมาชิก PT Max Card และ PT Max Card Plus มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า เพื่อเพิ่มยอดขายและความถี่ของการเข้าใช้บริการร้านกาแฟพันธุ์ไทย และเป็นการปูทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2027 อีกด้วย

PunThai Coffee
นอกจากนี้ PTG ยังมีแบรนด์ร้านกาแฟ Coffee world กว่า 26 สาขาในมือ ซึ่งอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งแบรนด์และลักษณะโมเดลเพื่อเสริมทัพธุรกิจกลุ่มFOOD & BEVERAGE