ก้าวที่ท้าทาย “กาแฟพันธุ์ไทย” แหกกรอบกาแฟปั๊มน้ำมัน

22 ก.ย. 2565 | 09:36 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2565 | 16:50 น.

PTG ขยายพอร์ต Non-oil เร่งติดปีก "กาแฟพันธุ์ไทย" ชิงเบอร์ 3 เชนร้านกาแฟ 2.7 หมื่นล้าน ด้วยโมเดลแฟรนไชส์-ขยายนอกสถานีน้ำมันพีที 1,500 สาขา ภายในปี 2566

จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) จากผลกระทบ Covid-19 ทำให้พฤติกรรมการบริโภคกาแฟเปลี่ยน คนทำงานอยู่ที่บ้านมากขึ้นและกังวลกับการใช้ชีวิตนอกบ้าน ส่งผลให้ตลาดกาแฟนอกบ้านเมืองไทยมูลค่า 27,000 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 9.5% ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในปีนี้การบริโภคการแฟดิลิเวอรี่ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด 

ก้าวที่ท้าทาย “กาแฟพันธุ์ไทย” แหกกรอปกาแฟปั๊มน้ำมัน

และคาดว่าจะช่วยดันมูลค่าตลาดกาแฟสิ้นปี 2565 แตะ  28,000 -29,000 ล้านบาท โดยมีผู้เล่นในตลาด 4 เจ้าหลัก ได้แก่ 1.อเมซอน คาเฟ่ 2.สตาร์บัคส์ 3.อินทนิล และ 4.ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาผู้เล่นแต่ละรายต่างปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

 

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ (PTG) เปิดเผยว่า “กาแฟพันธุ์ไทย” มีการปรับกลยุทธ์ขยายสาขานอกสถานีบริการน้ำมัน เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงร้านกาแฟพันธุ์ไทยได้ง่าย (Accessibility) และเน้นการทำการตลาดผ่านช่องทางดิลิเวอรี่ เพื่อตอบโจทย์ไลฟสไตล์ของลูกค้าในช่วงที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา 

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ (PTG)

ส่งผลให้ผลประกอบการในครึ่งปีแรก กาแฟพันธุ์ไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยรายได้ 480 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันในปี 2564 ถึง 2 เท่า  โดยช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3/2565 ยังสามารถทำรายได้ 230 ล้านบาทและคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565จะเติบโตขึ้นอีก 120%

 

แน่นอนว่าตัวเลขความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้มาเพราะโชคช่วย เพราะหากย้อนไปดูความเคลื่อนไหวตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า PTG ให้น้ำหนักกับการปั้น  "กาแฟพันธุ์ไทย" อย่างเข้มข้น ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1การขยายสาขาทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน ปัจจุบันร้านกาแฟพันธุ์ไทยมีสาขาเปิดให้บริการกว่า 500 สาขา มีสัดส่วนของสาขาที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน 70% และสาขานอกสถานีบริการน้ำมันอีก 30% โดยเน้นขยายในโลเคชั่นใจกลางเมือง ย่านธุรกิจที่มีกำลังซื้อสูงทั้งกรุงเทพ ปริมณฑล เมืองท่องเที่ยว และหัวเมืองตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งภายในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 1,500 สาขาทั่วประเทศโดยใช้โมเดลขายแฟรนไชส์ เป็นหลัก

 

2 การออกสินค้าใหม่โดยวัตถุดิบของไทยรสชาติดี และหาทานได้ยาก มาทำเป็นเครื่องดื่ม ทั้งน้ำตาลดอกมะพร้าวจากอัมพวา จ.สมุทรสงคราม,  ตาลโตนดจาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา,   ส้มมะปี๊ด จาก จ.จันทบุรี และสินค้าใหม่ล่าสุดอย่าง “ไทยดีเสริฐ” ขนมไทยดื่มได้ ที่ใช้วัตถุดิบ ลอดช่อง จาก จ.เชียงใหม่ และฝอยทองจากอยุธยา เพื่อสร้างความน่าสนใจของสินค้า

 

3)      การวางกลยุทธ์ทางการตลาดและการสื่อสารแบรนด์ผ่านช่องทางดิลิเวอรี่ โดยเน้นความสะดวกการเข้าถึง (Accessibility) ของลูกค้า เพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ (Awareness) และการมองเห็นของแบรนด์ให้เพิ่มมากขึ้น (Visibility) ซึ่งส่งผลในปี 2564 ที่ผ่านมายอดขายผ่านช่องทางดิลิเวอรี่เติบโตมากขึ้นถึง 4 เท่า 

 

4)      การนำข้อมูลลูกค้าจากบัตรสมาชิก Max Card และ Max Card Plus ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 17 ล้านคนทั่วประเทศ มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพิ่มยอดขาย และเพิ่มทั้งความถี่ของการเข้ามาใช้บริการในร้านกาแฟพันธุ์ไทยให้เพิ่มมากขึ้น 

“เราต้องการรุกเข้าสู่ non-oil โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ non-oil ให้เป็น 60% ในปี 2569 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรขั้นต้นจากธุรกิจ non-oil เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากปี 2563 ที่ 11% ขึ้นมาเป็น 13.2% ในปี 2564 และปี 2565 จะเพิ่มขึ้นถึง 20% 

สำหรับการขยายกาแฟพันธุ์ไทย เราตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ครบ 1,500 สาขา ในสิ้นปี 2566 จากปัจุบีน 500 สาขา แบ่งเป็นในเขต กรุงเทพ และปริมณฑล 50% ภาคอีสาน 15% และพื้นที่อื่นๆ 35% สำหรับสัดส่วนสาขาในสถานีบริการน้ำมันปัจุบันอยู่ที่ 70% และสาขานอกสถานีบริการ 30%”

บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ดิ้ง กาแฟพันธุ์ไทย

เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ PTG ยังได้ดึง “บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ” อดีตหัวเรือใหญ่ด้านมาร์เก็ตติ้งของบิ๊กเชนร้านปิ้งย่าง บาบีคิวพลาซ่า มานั่งตำแหน่งที่ปรึกษาด้านแบรนด์ดิ้ง กาแฟพันธุ์ไทย ซึ่งการเข้ามากุมบังเหียนคุมมาร์เก็ตติ้งและการสร้างแบรนด์ กาแฟพันธุ์ไทย ครั้งนี้ “บุณย์ญานุช” ธงในการ refresh แบรนด์ใหม่เพื่อทำให้แบรนด์กาแฟพันธุ์ไทย เป็นแบรนด์กาแฟของ “คนไทยพันธุ์ใหม่” โดยเปิดโอกาสให้คนผู้คนที่อยากแสดงศักยภาพความเป็นคนไทยพันธุ์ใหม่ให้เกิดขึ้นกับแบรนด์กาแฟพันธุ์ไทย