‘ท่องเที่ยว-ร้านอาหาร’ ฟื้นตัวเร็ว เปิดศึกชิง แรงงานขาดแคลน

27 มี.ค. 2566 | 10:57 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2566 | 10:59 น.

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและร้านอาหารฟื้นตัวเร็วหลังโควิดคลี่คลาย สวนทางแรงงานทักษะเฉพาะทางขาดแคลน เกิดภาวะสมองไหล ผู้ประกอบการเร่งปรับแผน เปิดศึกแย่งชิงตัวดึงแรงงานต่างชาติเสริม พร้อมเทคโนโลยีแก้เกม

การเปิดประเทศหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าชาวจีนเที่ยวไทยในปี 2566 อาจแตะ 4.65 ล้านคนในช่วงครึ่งปีหลัง สร้างเม็ดเงินสะพัด 1.86 แสนล้านบาท หรือกลับมา 36% ของการใช้จ่ายในปี 2562

หนุนประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 เพิ่มเป็น 25.5 ล้านคน (กรอบ 24-26 ล้านคน) สร้างเม็ดเงินสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องราว 1.07 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลั่งใหลเข้ามากลับสวนทางแรงงานในอุตสาหกรรมซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวขยายตัวได้ไม่เต็มที่

‘ท่องเที่ยว-ร้านอาหาร’ ฟื้นตัวเร็ว เปิดศึกชิง แรงงานขาดแคลน

นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคการท่องเที่ยวและบริการมีความคึกคักและอยู่ในช่วงขาขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บวกกับนโยบายจีนเปิดประเทศและเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทำให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง แต่การเปิดประเทศและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่รวดเร็วเกินไปทำให้ภาคท่องเที่ยวเริ่มขาดแรงงานตั้งแต่ปี 2565

ที่ผ่านมาเพราะแรงงานที่อยู่ในภาคบริการถูกเลิกจ้างและกลับภูมิลำเนาเกิดอาชีพหรือรายได้ใหม่ จนเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลน นอกจากนี้พนักงานในบางสายงานแรงงานมีสิทธิ์เลือกองค์กรที่ต้องการทำงานด้วยใหม่ ดังนั้นทิศทางตลาดแรงงานหลังจากนี้อาจเห็นภาพการเปลี่ยนงานไปมาในสายงานที่ได้รับความนิยม

โดยเฉพาะสายงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการท่องเที่ยวทั้งโรงแรม สปาหรือร้านอาหารไปจนถึงภาคบริการเนื่องจากต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะและสามารถเริ่มงานได้ทันที ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ส่งผลให้บรรยากาศการจ้างงานและค่าตอบแทนขยายตัว แต่สำหรับประเด็นค่าจ้างแรงงานจะปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบจะรับได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะหลังจากเกิดการแย่งชิงตัวแรงงานมีผลต่อเนื่องในเรื่องของต้นทุนธุรกิจ แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวยังเติบโตได้เรื่อยๆ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวเร็วและทำให้ค่าตอบแทนและเบเนฟิตต่างๆที่ออฟเฟอร์ให้ผู้สมัครงานน่าดีขึ้นและกลับเข้ามาอยู่ในเลเวลเดียวกับช่วงก่อนโควิด

‘ท่องเที่ยว-ร้านอาหาร’ ฟื้นตัวเร็ว เปิดศึกชิง แรงงานขาดแคลน

“ประเทศไทยตอนนี้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะเม็ดเงินหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการค่อนข้างมาก ในช่วงโควิดเราค่อนข้างสะดุดไปพอสมควร และเงินเฟ้อที่เพิ่มเข้ามาทำให้ผู้ประกอบการปิดกิจการจำนวนมาก และบางคนน่าจะเจ็บหนัก

ดังนั้นการจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเหล่านั้นว่ามีความพร้อมหรือไม่ แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเห็นการเติบโตขึ้นของบริษัทที่อยากจะขยายตัวเพื่อรองรับการเปิดประเทศ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านี้มันจะกลับมาขยายตัว”

ด้านนายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารเริ่มดีขึ้นหลังจากที่โควิดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารกลับมาขยายธุรกิจ เปิดสาขาเพิ่มอีกครั้งขณะเดียวกันมีชาเลนจ์เรื่อง people shortage เพราะในช่วงโควิดแรงงานกลับบ้านจากมาตรการปิดร้านอาหาร บางคนกลับไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือเกิดอาชีพใหม่และคาดว่าการที่สถานการณ์แรงงานจะกลับเข้าภาวะปกติในเร็ววันเป็นไปได้ยาก

“การขาดแคลนแรงงานไม่ใช่แค่ CRG แต่ทุกที่โดนเหมือนกันหมด ตอนนี้พนักงานมีทางเลือกมากขึ้น ในแง่ผลตอบแทนร้านอาหารอาจจ่ายน้อยกว่ารีเทล เพราะฉะนั้นแรงงานก็อาจจะโยกไปในส่วนที่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มมากขึ้น แต่เราก็พยายามเพิ่ม incentive และ benefit อื่นๆ ให้กับพนักงาน ผลักดันพนักงานเก่าให้เติบโตในตำแหน่งที่สูงขึ้นเมื่อมีการเปิดสาขาใหม่ ดึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเสริม และหา Option อื่นๆ มาช่วยเช่นอาศัยเทคโนโลยีทั้ง QR Code ,Robot เข้ามาเสริมในการสั่งอาหารหรือเสิร์ฟอาหาร

‘ท่องเที่ยว-ร้านอาหาร’ ฟื้นตัวเร็ว เปิดศึกชิง แรงงานขาดแคลน

นอกจากนี้เรายังปรับแผนขยายสาขาใหม่ให้เหมาะสมกับจำนวนพนักงานที่เราคาดว่าจะสามารถหาเข้ามาเพิ่มได้ ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลนปีนี้เราคงมีแผนขยายสาขามากกว่า 150 สาขา นอกจากนี้ยังต้องจับตามองนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนส่วนหนึ่งสูงขึ้น แต่ในมุมบวกพนักงานจะมีรายได้ที่ดีขึ้นและจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น”

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,872 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2566