‘ซีทรู’ เปลี่ยนเกม ดึง ‘แจ็คสัน หวัง’ ปั้นแบรนด์ น้ำดื่มรักษ์โลก

17 พ.ค. 2566 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2566 | 11:03 น.

“ซี ดริ้ง” เร่งสปีดรุกตลาดน้ำดื่มไทย ล้างภาพ OEM หันสร้างแบรนด์ “ซีทรู” เกาะกระแสขยะอุตสาหกรรม ลดมลพิษ พร้อมดึง “แจ็คสัน หวัง” นั่งพรีเซนเตอร์ตั้งเป้าติด Top 10 แบรนด์น้ำดื่มรักษ์โลกใน 3 ปี

นางสาวธัญรัศม์ จิรฐิติเกียรติ ประธานบริหาร บริษัท ซี ดริ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่ม “ซีทรู” (C2) เปิดเผยว่า หลังจากคว่ำหวอดในวงการน้ำดื่มมากว่า 40 ปี ในฐานะผู้ผลิตน้ำดื่มคุณภาพให้กับเชนโรงแรม ห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ ทำให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำดื่มโดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรมที่เกิดจากพลาสติกบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นเป้าหมายของซี ดริ้ง คือการทำแบรนด์น้ำดื่มเพื่อเป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมน้ำดื่มในประเทศไทย ในการยกระดับอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมต่างประเทศที่มีการพัฒนา “น้ำดื่มรักษ์โลก” หรือน้ำดื่มที่ไม่มีฉลาก ซึ่งกำลังแพร่หลาย ในประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

นางสาวธัญรัศม์ จิรฐิติเกียรติ ประธานบริหาร บริษัท ซี ดริ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่ม “ซีทรู” (C2)

“เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อลดขยะพลาสติกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือจากธุรกิจของเราเพราะเริ่มส่งผลต่อโลกมาก เราจึงคิดค้น C2 น้ำดื่มคุณภาพไร้สลากขึ้น โดยใช้เวลาในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์นานมากกว่า 5 ปีร่วมกับนักออกแบบระดับโลกเพื่อให้ขวดสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% แน่นอนว่าขวดสามารถรีไซเคิลได้ 100% ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ตัวร้ายจริงๆคือสี คราบกาวและตัวฉลากที่พันอยู่บนขวด ที่จะต้องถูกแยกออกไปจากขวดเพื่อรีไซเคิลได้ 100%

 

เพราะฉะนั้นอันดับแรกเราคิดว่าเราควรจะต้องเอาฉลากออก แต่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเห็นข้อมูลต่างๆ ที่เคยอยู่บนฉลาก เราจึงคิดค้นเทคโนโลยีการทำโมแบบปั๊มนูนขึ้นมาซึ่งมีการลงทุนสูงมากเพื่อโจทย์ในเรื่องของคราบกาวและฉลากที่เอาออกไป นอกจากนี้การจำหน่ายในห้างสรรพสินค้ายังมีปัญหาเรื่องของบาร์โค้ดที่ต้องพิมพ์สีลงไปบนฝา ทำให้ไม่สามารถรีไซเคิลในส่วนของฝาได้ เราจึงพัฒนาการเลเซอร์เข้าไปบนฝา โดยเราถือลิขสิทธิ์เจ้าเดียวในโลกและใช้การลงทุนที่สูงมาก เพราะฉะนั้น C2จึงสามารถรีไซเคิลได้ตั้งแต่ฝารวมถึงขวด 100% ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงมาก”

นางสาวธัญรัศม์ จิรฐิติเกียรติ CEO “ซีทรู” (C2)

สำหรับการจัดจำหน่ายปัจจุบันมีการกระจายสินค้าออกไปวางจำหน่ายทั่วประเทศ ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อในราคา 10 บาทใกล้เคียงกับน้ำดื่มแบรนด์อื่นในท้องตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงและตัดสินใจลองหรือหยิบแบรนด์ได้ง่ายขึ้น แม้ว่าเทคโนโลยีต่างๆจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากก็ตาม แต่การที่แบรนด์ใหม่จะเติบโตไปได้ในระดับประเทศหรือในระดับโลกจะต้องมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรงและแข็งแกร่งเพื่อช่วยส่งเสียงออกไป

 

โดยจุดเด่นของซีทรู คือการเลือกพรีเซ็นเตอร์ระดับโลกอย่าง “แจ็คสัน หวัง” เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับแบรนด์ รวมทั้งยังจับมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง โรงภาพยนตร์เอส เอฟ ในฐานะ Naming Sponsor ของโรงภาพยนตร์ Zigma Cinestadium presented by C2 เพื่อส่งให้แบรนด์สามารถประกาศตัวสู่ระดับโลกได้

 

“เราต้องการให้คนรู้จัก C2 เราจึงเลือกโฆษณาแบบ เนชั่นไวด์ บนป้ายบิลบอร์ดและโรงภาพยนตร์ เพราะเรื่องของการรักษ์โลกหรือความยั่งยืนของโลกเป็นเรื่องของทุกเจนเนอเรชั่น ที่ต้องหันกลับมามองว่าตัวเองสามารถทำอะไรเพื่อโลกอย่างจริงจัง อย่างน้อยถ้าเราเริ่มอย่างจริงจังไม่ใช่แค่ทำตามกระแส เมื่อมีคนเห็นก็จะมีคนทำตาม และแน่นอนว่าการที่เราเป็นแบรนด์ระดับโลกเราต้องการใช้คนที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาช่วยเราตะโกนว่าเราทำเรื่องนี้จริงๆ ซึ่ง“แจ็คสัน หวัง” เป็นศิลปินที่คนไทยและทั่วโลกรู้จัก

 

ดังนั้นจึงรับประกันได้เราจะสามารถสื่อสารเรื่องนี้ไปได้อย่างทั่วถึงและแพร่หลายแน่นอน นอกจากนี้ภายใต้ความร่วมมือของเอส เอฟ ในอนาคตเรายังจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกเช่น การรับขวดเพื่อนำไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าขวดของเราสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเอส เอฟ มีจุดรับขวดให้เราถึง 22 จุดและน่าจะมากที่สุดในประเทศไทย”

 

นางสาวธัญรัศม์ กล่าวต่อไปว่า ตลาดน้ำดื่มเป็นตลาดที่ใหญ่มากในประเทศไทย เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แม้ภาพรวมตลาดจะไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่ยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปและในตลาดมีน้ำดื่มมากกว่า 200 แบรนด์ สิ่งที่ซีทรูต้องการคือเป็น 1 ใน 10 แบรนด์น้ำดื่มที่เป็นผู้นำทางด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อมภายใน 3 ปี ปัจจุบันเริ่มวางจำหน่ายแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับมากขึ้นและคาดว่าจะสามารถทำรายได้หลักร้อยล้านในอนาคตอันใกล้และในส่วนของต่างประเทศบริษัทคาดหวังว่าจะสามารถส่งออกได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ในรูปแบบของไลเซ่นส์และผลิตในประเทศนั้นๆ เพื่อลดต้นทุน

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,887 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566