คณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอกย้ำความแข็งแกร่ง ของเด็กสายดีไซน์ ม.กรุงเทพ ดึงเหล่าคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของวงการ ปูทางนักศึกษาสู่เส้นทางมืออาชีพทั้ง นักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก หรือ มัณฑนากร ที่แฝงดีเอ็นเอของความเป็นผู้ประกอบการในตัว
นางสาวภัทรมาศ ศรีวิสุทธิกุล ศิษย์เก่า สาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ และเจ้าของสตูดิโอออกแบบภายในที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการอย่าง เบจ เวิร์คสเปซ (Beige Workspace) เจ้าของรางวัล Winner Award ในหมวดการออกแบบบ้านตัวอย่าง จากการประกวดระดับนานาชาติ Asia Pacific Property Awards 2021-2022 เปิดเผยว่า สิ่งที่เด็กสายดีไซน์ส่วนใหญ่รู้สึกกังวลในขณะที่กำลังมองหามหาวิทยาลัยเพื่อเข้าเรียนต่อมีอยู่ 3 เรื่องคือ 1.ไม่มั่นใจในแพชชั่นของตัวเอง 2.กังวลเรื่องความความสามารถในการเรียนต่อ 3.บรรยากาศการเรียน
“ก่อนเข้าเรียนที่ม.กรุงเทพ เรารู้ตัวในระดับหนึ่งว่าเราชอบเรื่องการวาดรูป แต่เราไม่รู้ว่านี่คือความชอบหรือความถนัด ตอนนั้นก็มองหามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ จนมาพบกับ ม.กรุงเทพ เรารู้สึกว่าที่นี่ ดูครอบคลุมทุกอย่างที่เราต้องการมากที่สุด บรรยากาศการเรียนก็ดีไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง และอาจารย์ หลักสูตรก็ค่อนข้างเปิดกว้างให้เราเลือกเรียนได้อย่างอิสระ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คืออาจารย์ที่นี่ดีมากๆ จากคนที่เคยอ่อนวิชาด้านสถาปัตย์มากที่สุดในรุ่น อาจารย์ก็ฝึกสอนเราจนได้รับประสบการณ์การทำงาน ได้คอนเนคชั่นและคำแนะนำดีๆจากอาจารย์ รวมทั้งบรรยากาศ เครื่องมือในการเรียนก็พร้อมให้นักศึกษาได้ฝึกลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองทุกคน ทำให้รู้สึกว่า เราตัดสินใจถูกต้องแล้ว ที่เลือกเรียนที่คณะสถาปัตย์ ม.กรุงเทพ จนมีเราในวันนี้”
ผศ.ดร.ภาสิต ลีนิวา รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ และ ดร.ปทิตตา นิรันพรพุทธา อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ ได้อธิบายถึงแนวทางการเรียนต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ไว้ตรงกันว่า นักศึกษาที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่ต้องกังวลว่าจะเรียนไม่ได้ ทุกคนจะต้องเริ่มต้นการเรียนด้วยการปรับพื้นฐานการเรียนในสายนี้ให้ตรงกันทั้งหมด ซึ่งมีวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนเหมือนกันอย่างวิชา ดรอว์อิ้ง หรือพื้นฐานการวาดรูป เพื่อเรียนรู้เรื่องลายเส้น การจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างไรให้ออกมาสวยงาม รวมถึงวิชาพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการเรียนในระดับชั้นต่อไป มุ่งเน้นการเรียนที่หลากหลายให้นักศึกษาได้เห็นภาพการทำงานในสายต่างๆ ได้ลองลงมือปฏิบัติและค้นหาแพชชั่น เพื่อช่วยให้นักศึกษาตัดสินใจเลือกสาขาที่ตรงกับแพชชั่นของตัวเอง ซึ่งแต่ละคณะก็จะมีสาขาแยกย่อย ให้นักศึกษาเลือกให้ตรงกับแพชชั่นของตัวเอง
ใบคะแนนเกรดเอ ทุกวิชา อาจไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่านักศึกษาจะมีสามารถทำงานได้ดี เมื่อก้าวเข้าสู่โลกการทำงานจริง ดังนั้นการเรียนการสอนของคณะศิลปกรรม-สถาปัตยกรรม ม.กรุงเทพ นอกจากจะให้ความรู้ และช่วยให้นักศึกษาค้นพบแพชชั่นของตัวเองแล้ว การพัฒนาศักยภาพให้มีความเป็นมืออาชีพตั้งแต่ยังเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งที่ทำให้ทุกคนในวงการให้การยอมรับ
อัครชัย ดีดพิณ ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัจจุบันเป็นสไตลิสต์และช่างทำผม ให้กับนิตยสาร VOGUE Thailand เคยผ่านการทำผมให้กับดาราฮอลลีวู้ด Tilda Swinton ในการถ่ายแบบนิตยสารแฟชั่นระดับโลก เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเรียนที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียนจนวันสุดท้ายที่เรียนจบ เราเอามาใช้ในการทำงานได้ทั้งหมดตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ทำงานในวงการแฟชั่นระดับประเทศ จนกระทั่งเข้าตาทีมงานต่างประเทศ จนได้รับเชิญให้ไปร่วมงานระดับอินเตอร์ด้วยกัน ความรู้ที่ได้จากอาจารย์ ก็เอาไปใช้ในการทำงานระดับอินเตอร์ได้ทันที โดยแทบไม่มีบทเรียนไหนเลยที่เราจะไม่ได้เอามาใช้ ในการทำงานจริง ไม่มีอะไรที่เรียนรู้จากที่นี่แล้วรู้สึกเสียเวลาเปล่า
ตั้งแต่วันที่เรามีแค่แพชชั่น แต่เราไม่รู้ว่าเราจะเริ่มต้นจากตรงไหน อาจารย์ทุกท่าน รวมถึงวิทยากรที่เป็นแฟชั่น ดีไซน์เนอร์ระดับประเทศ จะคอยแนะนำ ทำให้แพชชั่นของเราเด่นชัดขึ้นและไม่ใช่แค่ความรู้ ม.กรุงเทพ ไม่ได้สอนให้เราอยู่กับวิชาการ อยู่กับกระดานดำ แต่สอนไปถึงวิธีที่เราจะก้าวออกไปข้างนอกด้วยประสบการณ์และความมั่นใจ เราจึงไม่ได้เป็นแค่นักศึกษาแต่เราเรียนไปพร้อมกับการทำงานในโลกความเป็นจริง”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.เขมมิกา ธีรพงษ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ เผยเคล็ดลับในการดึงศักยภาพของนักศึกษาจากแพชชั่นที่พวกเขามี ให้กลายเป็นศิลปินหรือนักออกแบบ ที่มีประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่ก่อนเรียนจบว่า “การสอนของเราจะใช้การส่งผลงานเข้าประกวดเป็นส่วนหนึ่งในเรียนการสอน มีทั้งการประกวดที่เป็นความร่วมมือของคณะกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งจะดึงให้คนในวงการอุตสาหกรรมเข้ามาตัดสิน คัดเลือกผลงาน ตัวนักศึกษาเองก็จะได้เจอโจทย์จริงที่ใกล้เคียงกับการทำงานจริงๆ ได้คำแนะนำกลับมาพัฒนาตัวเอง
การประกวดอีกประเภทคือการประกวดแบบเปิด ที่ทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งนักศึกษาของเราก็สามารถคว้ารางวัลกลับมาได้หลายรายการ การออกแบบควบคู่ไปกับทำงานจริง ช่วยทำให้นักศึกษาทุกคนได้ประสบการณ์ในการทำงาน ด้านการออกแบบอย่างมืออาชีพโดยไม่รู้ตัว”
“ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ หากเทียบน้องๆจบจาก ม.กรุงเทพ จะได้ในเรื่องของความเป็นครีเอทีฟที่โดดเด่น การคิดนอกกรอบ สามารถใช้โปรแกรมในการทำงานได้มากกว่า มีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาก่อน จึงสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งผมมองว่าประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ การมีประสบการณ์จะทำให้เรามองเห็นความเป็นจริง และทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น” ธณวรรธณ์ จันทร์ประทักษ์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม ม.กรุงเทพ ผู้ประสบความสำเร็จในการรับงานออกแบบบ้านตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ จนสามารถเปิด บริษัท สถาปนิก ดีเอ็นเอ จำกัด (Architect DNA) ได้ตั้งแต่เรียนจบ และมีลูกค้าเข้าใช้บริการมากกว่า 200 โครงการในเวลาเพียง 2 ปี พูดถึงจุดเด่นของน้องๆที่เรียนจบจาก คณะศิลปกรรม-สถาปัตยกรรม ม.กรุงเทพ
ในขณะที่ ปุณยวีร์ วิวรรธนชัยกุล ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ม.กรุงเทพ เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยฝากผลงานการประกวดเอาไว้อย่างมากมาย และสามารถสร้างรายได้จากการขายผลงานภาพชุด Obey the System ที่สามารถทำยอดขายภาพผ่าน NFT (Non-Fungible Token) แตะหลักแสน ได้ภายใน 5 วัน เล่าเสริมถึงจุดแข็งของเด็กศิลป์ ม.กรุงเทพว่า “หากจะให้ผมคิดถึงจุดเด่นของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จากที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ที่เป็นศิษย์เก่าและผมก็เห็นด้วยคือ เราอาจจะไม่ได้เป็นสายแข็งที่สร้างผลงานศิลปะโหดระดับเทพ แต่เรื่องวิธีคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ เพื่อสร้างงานให้ออกมาได้ตรงใจลูกค้ามากกว่า และที่นี่เปลี่ยนเสมือนเครื่องขัดเกลาฝีมือของผมให้ดีขึ้น ผลงานที่เหนือกว่าความสวยงาม คือผลงานที่ลูกค้าเห็นแล้วต้องการ”
การลงมือทำงานคือการเรียนที่ดีที่สุด
“เด็กที่เรียนสถาปัตย์ มักจะอดหลับอดนอน เพราะงานเยอะ มีรายละเอียดในการทำงานมากมายที่ต้องใส่ใจในการออกแบบ ถ้าต้องการเป็นสถาปนิก หรือ มัณฑนากร ที่สามารถออกแบบได้อย่างเชี่ยวชาญ มีความชำนาญในทุกขั้นตอน ก็ต้องฝึกซ้ำไปเรื่อยๆ จากที่ไม่มั่นใจในตัวเองก็จะเริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้น การให้นักศึกษาได้รับโจทย์การทำงานจริงเยอะๆ จะทำให้พวกเขามีความเป็นมืออาชีพ ที่มีแพชชั่นของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม” ผศ.ดร.ภาสิต เผยถึงแนวทางการสอนให้นักศึกษาทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ ด้วยการเอาโจทย์ที่ลูกค้าจะนำไปสร้างจริง ให้นักศึกษาได้ทดลองทำเรื่อยๆ แพชชั่นของพวกเขาก็จะเริ่มชัดเจนจากการได้ลงมือทำงานไปพร้อมๆกับการเรียน
ใช้มืออาชีพ สร้างมืออาชีพ
ด้าน ดร.ปทิตตา กล่าวทิ้งท้ายในส่วนของคณะศิลปกรรมศาสตร์ว่า สิ่งที่เราทำมาโดยตลอดและยังทำอยู่ นอกจากการเน้นให้นักศึกษาลงมือทำ และส่งเข้าประกวดเพื่อให้พวกเขารู้จุดอ่อนของตัวเองเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นคือ การเลือกอาจารย์ผู้สอนที่มีทั้งอาจารย์ประจำที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านโดยตรง ในขณะเดียวกันเรามีอาจารย์พิเศษ ระดับมืออาชีพที่มีชื่อเสียงในวงการมานานมากกว่า 10 ปี นักศึกษาจะได้มีโอกาสเรียนรู้กับผู้สอนที่มีความหลากทางความคิด หลายองค์ความรู้ มีมุมมองที่แตกต่าง มีประสบการณ์ในการทำงาน และวิธีการแก้ปัญหาของมืออาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมากในการทำงานจริง เพราะในโลกการทำงานจริงไม่มีอะไรเรียบง่าย ราบรื่น เหมือนกับการทำงานส่งอาจารย์ พวกเขาจะต้องไปเจอปัญหาหน้างาน ปัญหากับคนทำงานด้วยกัน ปัญหากับลูกค้า สิ่งที่ได้รับจากอาจารย์พิเศษ จะทำให้พวกเขาจะสามารถรับมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยความเป็นมืออาชีพในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถปรับตัวทำงานได้ทุกตำแหน่งในสายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ พนักงานบริษัท หรือออกไปเปิดธุรกิจสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา พวกเขาก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากอย่างแน่นอน.