ปิดตำนาน ม.กรุงเทพกล้วยน้ำไท จับตา กลุ่ม "โอสถานุเคราะห์"แปลงโฉมที่ 27 ไร่

02 ก.พ. 2566 | 02:13 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2566 | 09:16 น.

ปิดตำนาน ม.กรุงเทพกล้วยน้ำไท บุคลากรโพสต์ภาพอำลา ตึกเก่าแก่ สัญลักษณ์ 'ความรู้ คู่ความดี' อาคาร ดร.เจริญ คันธวงศ์ จับตา กลุ่ม โอสถานุเคราะห์ แปลงโฉม 'ที่ดิน' พื้นที่ 27 ไร่ ทำเลกลางเมือง สู่ธุรกิจใหม่ ?

2 ก.พ.2566 - เป็นกระแสข่าวมาสักพักหนึ่งแล้ว สำหรับการเตรียม ปิดมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท หลังผู้บริหาร กลุ่ม 'โอสถานุเคราะห์' แจ้งโอนย้ายนักศึกษา ปริญญาตรี-โท และ เอก หลักสูตรนานาชาติ ไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ศูนย์รังสิต พร้อมประกาศแปลงโฉมพื้นที่ราว 27 ไร่ กล้วยน้ำไท สู่การพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถต่อยอดเรื่องรายได้ได้  แต่อาจยังให้ความสำคัญ กับธุรกิจการศึกษาอยู่ ท่ามกลาง 'นายทุน' จำนวนมาก แห่รุมจีบขอซื้อที่ดินดังกล่าวต่อ  
 

ล่าสุด ปรากฎโพสต์อำลา ของบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก รายหนึ่งซึ่งเป็น บุคลากรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุข้อความ 

" ปิดตำนาน 'ความรู้ คู่ความดี' มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท "

พร้อมแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยมีการโอนย้ายนักศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว และเตรียมเปิดพื้นที่ให้เข้าถึงแค่สิ้นเดือน ก.พ. ก่อนปรับพื้นที่ใหม่ โดยเฉพาะ อาคาร ดร.เจริญ คันธวงศ์  

อย่างไรก็ดี ตรวจสอบล่าสุดอีกครั้ง ปรากฎว่า โพสต์ดังกล่าว ถูกลบออกไปจากระบบแล้ว ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากผู้บริหารสถาบันออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพอยู่ระหว่างการพัฒนาวิทยาเขตกล้วยน้ำไท เป็น city campus ศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมสร้างสรรค์ ให้เข้ากับยุคสมัย เปิดสอนทั้งหลักสูตรที่ไม่ได้รับปริญญาบัตร ,หลักสูตรระยะสั้น และ หลักสูตรระดับผู้บริหารระดับสูง เนื่องจาก เป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง กลางเมือง ใกล้สถานีเอกมัย เชื่อมการท่าเรือ เขตคลองเตย ซึ่งจะเป็นฮับใหม่ที่มีแผนพัฒนาใหญ่รองรับอยู่ 

ล่าสุดอาจารย์ปรางแก้ว ทองดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชี้แจงว่า ข่าว "ปิดตำนาน ม.กรุงเทพกล้วยน้ำไท " มหาวิทยาลัยขอชี้แจงว่า โพสท์ดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิด ไม่มีมูลความจริง พื้นที่ดังกล่าวทางผู้บริหารมหาลัยกรุงเทพยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อางแผนการพัฒนาพื้นให้เหมะสมกับกาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และ นวัตกรรม ชัดเจนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ประวัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สำหรับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ม.กรุงเทพ) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 ใน 5 แห่งแรกในประเทศไทยถูกสถาปนาขึ้นพร้อมกับ วิทยาลัยเกริก วิทยาลัยไทยสุริยะ วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และวิทยาลัยพัฒนา 

เริ่มแรกนั้นได้รับการก่อตั้งในชื่อ “วิทยาลัยไทยเทคนิค” เมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยกรุงเทพ” และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2527 โดยจัดการเรียนการสอนใน 11 คณะ รวมทั้ง วิทยาลัยนานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย ครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์  

ในอดีต เปิดดำเนินการสอน ใน 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท กรุงเทพมหานคร และวิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยมี สุรัตน์ และปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ (เจ้าของกิจการกลุ่มโอสถสภา) เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่ง ม.กรุงเทพ กล้วยน้ำไท ตั้งอยู่ ภายในซอยบ้านกล้วยใต้ ริมถนนพระรามที่ 4 

ตามประวัติ เดิมเป็นเพียง ถนนลูกรัง แต่เป็นย่านค้าขายของเหล่าบรรดานายห้างต่างชาติ รวมถึงท่าเรือสินค้าที่คลองเตยด้วย ภายหลังมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ บริเวณย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยให้วิทยาเขตกล้วยน้ำไท เปิดการเรียนการสอนเพียง หลักสูตรพิเศษ ก่อนประกาศปิดตัวลง เพื่อปรับพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา สู่ธุรกิจอื่นๆ

ต้องจับตาดูว่า 'เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ' จะแปลงโฉมที่ดิน ทำเลทองดังกล่าว ต่อยอดทางธุรกิจอย่างไร ?