นายวีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส หนึ่งในกลุ่มพูลผล ซึ่งก่อตั้งมากว่า 37 ปี เป็นผู้นำในการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรคุณภาพสูงของประเทศไทยและของโลก ที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยเป็นผู้ริเริ่มนำแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญทางการเกษตรมาดัดแปรโดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลัง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร กระดาษ สิ่งทอ กาว อาคารและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงพลาสติกชีวภาพ
โดยมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรอยู่ทั้งหมด 3 แห่ง ที่ปทุมธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 4 แสนตันต่อปี ส่งผลให้กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ครองตำแหน่งเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรของคนไทยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน
ปัจจุบันบริษัทนำผลผลิตที่ได้จากมันสำปะหลังไปใช้ใน2 ประเภทคือ 1. แป้งมันสำปะหลังดิบ (native starch) และ 2. แป้งมันสำปะหลังดัดแปร (modified starch) โดยแต่ละปีจะมีผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดเฉลี่ย 30 ล้านตันต่อปี แต่ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดราว 25 ล้านตัน และบริษัทรับซื้อ 1 % ของผลผลิตทั้งประเทศ และคิดเป็น 15% ของผลผลิตทั้งหมดของชัยภูมิ
“มันสำปะหลัง ที่เกษตรกรปลูก จะเป็นมันสำปะหลังโรงงาน และนำมาใช้เพื่อการแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลังดิบ (native starch) ซึ่งนำมาใช้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและยา และผลิตภัณฑ์ไม่ใช่อาหาร เช่น กระดาษ สิ่งทอ ก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ สำหรับโอกาสทางธุรกิจยังคงโตอย่างต่อเนื่อง
โดยเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญ 3 ลำดับแรก ซึ่งเปรียบระหว่างปี 2564 กับ 2565 พบว่ามีการเติบโต โดยมันเส้นส่งออกเพิ่มขึ้น 13% ขณะที่แป้งมันสำปะหลังดิบ (native starch) ส่งออกเพิ่มขึ้น 2% และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร (modified starch) ส่งออกเพิ่มขึ้น 1%”
อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกษตรกรในการเพาะปลูกมันสำปะหลังคือ 1. ระบบชลประทาน ที่ยังไม่ครอบคลุม ส่งผลต่อผลผลิตมันสำปะหลัง 2.ต้นทุนการผลิต ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดการใส่ปุ๋ย ทำให้เชื้อแป้งและผลผลิตลดลง และ 3. การขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาด ปลอดโรค เพื่อใช้สำหรับการปลูกในฤดูถัดไป
โดยบริษัทให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรให้ยืดอาชีพการปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพที่มั่นคง ผ่านรูปแบบ “ระบบสมาชิกชาวไร่” โดยมีการรับซื้อผลิตผลหัวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี โดยแต่ละปีบริษัทจะมีการซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมากกว่า 3,700 ครอบครัว
พร้อมกันนี้ มีการจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งด้านการเพิ่มผลผลผลิต การช่วยเหลือต้นทุนเพาะปลูก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร ภายใต้แนวคิด “เพื่อนคู่คิด สมาชิกชาวไร่” และล่าสุดได้จัดงาน สมาชิกชาวไร่ ประจำปี 2566/2567 ขึ้นเป็นปีที่ 30
ทั้งนี้หนึ่งในหัวใจแห่งความสำเร็จของกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส คือ “เกษตรกร” ซึ่งเปรียบเสมือนหุ้นส่วนที่สำคัญของบริษัท บริษัทจึงส่งเสริมและสนับสนุนผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ 1. โครงการ “ส่งมาก แลกได้มาก” ให้เกษตรกรสมาชิกคู่ค้า ได้สะสมแต้มจากการขายหัวมัน สำปะหลัง แลกเป็นของรางวัลต่างๆ
โดยปัจจุบันบริษัทได้พัฒนา Application FMS (Farmer Member Survey) เกษตรกรสามารถดูคะแนนสะสมจากการขายหัวมันสำปะหลัง จอง แลกของรางวัล และการจองคิวเพื่อขายมันสำปะหลัง สามารถบันทึกข้อมูลเพาะปลูก และบันทึก ต้นทุนการเพาะปลูกผ่าน App นี้ได้อีกด้วย 2. โครงการการเพิ่มผลิตมันสำปะหลัง ในรูปแบบของ SMS Model 3. โครงการช่วยเหลือ และลดต้นทุนการปลูกของเกษตรกร 4. โครงการอยู่ดี มีความสุขของเกษตรกร เป็นต้น
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,892 วันที่ 1 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566