นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ผ่านมาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ จึงได้มีการพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตรให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตรร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พัฒนาระบบประกันภัยการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงการประกันอุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วย
ปัจจุบันรัฐบาล มีการดำเนินงานโครงการประกันภัยการเกษตรสำหรับเกษตรกร จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมีการประกันภัยของภาคเอกชน ในสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ เช่น ทุเรียน ลำไย โคเนื้อ โคนม
อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ สศก. โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในการผลิตสินค้าเกษตร และความต้องการของเกษตรกรต่อการทำประกันภัยการเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการขับเคลื่อนการประกันภัยการเกษตรของประเทศไทย
ด้านพืช จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและประกันภัยการเกษตรของเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 1 - 3 มีนาคม 2566 พบว่า ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในช่วง 3 - 4 ปี ที่ผ่านมา พบปัญหาหลักจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกชนิดพันธุ์ 89 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่มีน้ำหนักดี ทำให้ได้ผลผลิตมาก แต่ไม่ทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง
โดยการระบาดของโรคใบด่างเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ การนำท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาเพาะปลูก และการติดเชื้อจากแมลงพาหะ ได้แก่ แมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งพบการระบาดครั้งแรกในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา เมื่อปี 2562 ซึ่งจากข้อมูลในเดือนมกราคม 2566 พบว่า พื้นที่อำเภอบ่อพลอย มีพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 218 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 29 ราย อำเภอห้วยกระเจา มีพื้นที่ระบาด 3,505 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 105 ราย
ส่วนอำเภอเลาขวัญที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก มีพื้นที่ระบาด 1,612.25 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 214 ราย และอำเภอท่าม่วง พบการระบาดครั้งแรกในปี 2565 มีพื้นที่ระบาด 433.50 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 38 ราย สำหรับมันสำปะหลังที่ติดโรคช่วงที่มีอายุ 5 เดือนขึ้นไป จะให้ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 20-50 ของผลผลิตมันสำปะหลังปกติ ในขณะที่การระบาดที่เกิดจากท่อนพันธุ์ติดเชื้อจะไม่ให้ผลผลิต
ในด้านความต้องการประกันภัยของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พบว่า เกษตรกรมีความสนใจในการประกันภัยมันสำปะหลัง หากเงื่อนไขการรับประกันมีความน่าสนใจ และเหมาะสม ซึ่งหากมีโครงการประกันภัยมันสำปะหลัง ควรทำประกันในชนิดพันธุ์ที่ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง เช่น พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 5 และพันธุ์ห้วยบง ในส่วนของการตรวจสอบความเสียหายเพื่อชดเชยค่าสินไหม ควรมีคณะกรรมการประเมินความเสียหายที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เกษตรและผู้นำชุมชน เพิ่มเติมจากการใช้ประกาศเขตการให้ความช่วยหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
“ในเบื้องต้นเกษตรกรมีความสนใจทำประกันภัยโดยเต็มใจจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเบี้ยประกัน และควรมีการจ่ายค่าชดเชยเมื่อมันสำปะหลังมีความเสียหายจากโรคมากกว่าร้อยละ 50 ของแปลงปลูก”
ด้านประมง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เรือประมงพื้นบ้าน จากกลุ่มประมงเรือเล็กลูกน้ำเค็มก้นปึก และวิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กตากวน - อ่าวประดู่ จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 18 - 19 เมษายน 2566 พบว่า ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านยังไม่มีการทำประกันภัยเรือประมงพื้นบ้าน และยังมีความกังวลเรื่องหลักฐานที่จะใช้เคลมประกัน เนื่องจากช่วงที่มีภัยพิบัติพายุพัดเรือจมเสียหาย ชาวประมงต้องรักษาชีวิตให้รอด ไม่สามารถถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานในการเคลมประกัน และรูปแบบการประกันต้องครอบคลุมความเสียหายที่ชาวประมงได้รับ เช่น เรือ วิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ และสามารถเคลมประกันได้ จึงจะสนใจเข้าร่วมโครงการประกันภัย
อย่างไรก็ตาม ชาวประมงพื้นบ้านต้องการให้ภาครัฐให้การสนับสนุนการประกอบอาชีพ เกี่ยวกับอุปกรณ์ทำประมง และตลาดจำหน่ายผลผลิต เช่น ตลาดหอยแมลงภู่ เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียน ณ สวนสุวรรณจินดา ในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 โดยเป็นสวนที่มีการทำฟาร์มอัจฉริยะติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลม สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งวาตภัยและภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่สำคัญที่สร้างความเสียหายแก่สวนทุเรียนมากที่สุด การติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลมเพื่อลดความสูญเสียของทุเรียนจากวาตภัย ค่าความเร็วลมที่วัดได้เป็นรูปแบบเรียลไทม์ มีการศึกษาระดับความเร็วลม ช่วงระยะเวลาที่เกิดภัยและผลกระทบ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ทันเวลา เช่น การใช้ไม้ค้ำการโยงผลทุเรียนด้วยเชือก
ในส่วนของความคิดเห็นต่อการทำประกันภัย ปัจจุบันเกษตรกรยังไม่สนใจการประกันภัยเนื่องจากความถี่ของการประสบปัญหาวาตภัยยังมีน้อย ผลกระทบจะเกิดมากกับบริเวณพื้นที่เป็นแนวลมพายุ และการประกันภัยปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมภัยพิบัติที่เกษตรกรได้รับ ทั้งนี้ เครื่องวัดความเร็วลมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการตรวจสอบความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในการประกันภัยได้ต่อไป
เลขาธิการ สศก. กล่าวตอนท้ายว่า จากการติดตามสถานการณ์ลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบประกันภัยของประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาสถานการณ์การผลิตทุเรียนโดยการติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลม สศก. มีแผนจะดำเนินการร่วมกับสำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่มีความร่วมมือทางวิชาการ ในการทำสนามทดลองสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทุเรียนโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และภูมิสารสนเทศในการวัดค่าความเร็วลม เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนา Weather-Index Insurance ต่อไป