นพ.ยุทธนา สงวนศักดิ์โกศล รองกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลไตรมาส 1 ของปีนี้นับว่ามีการเติบโตที่น่าสนใจ สำหรับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต มีการเติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563
สืบเนื่องจากพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนเปลี่ยนแปลงไป คนเริ่มให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและเพิ่มภูมิคุ้มกัน ทั้งเริ่มออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี นอนหลับอย่างเพียงพอ และไม่ต้องการเข้าโรงพยาบาลหากไม่จำเป็นจริงๆ ทำให้โรงพยาบาลต้องปรับตัวโดยเน้นรักษาโรคยากมากขึ้น รวมทั้งใช้นวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ เข้ามาเสริม
โดยโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต เล็งเห็นความสำคัญและมีความรู้เรื่อง “กัญชาทางการแพทย์” และเริ่มนำเข้ามาใช้ในการรักษาคนไข้ตั้งแต่ปี 2563 หลังจากรัฐบาลออกกฎหมายเรื่อง “กัญชาเสรี” ซึ่งในเวลานั้นกระทรวงสาธารณสุขต้องหาบุคลากรทางการแพทย์ไปเทรนนิ่ง ซึ่ง “จุฬารัตน์ 9” ได้ส่งทั้งแพทย์และเภสัชไปเทรนจนได้ใบประกาศนียบัตรรับรองการสั่งจ่ายยากัญชามา
“ปัจจุบันเราใช้ “ยากัญชา” เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสั่งจ่ายโดยแพทย์ที่ผ่านการอบรมและได้ใบอนุญาตสั่งกัญชาได้ เพราะในตอนแรกกระทรวงสาธารณสุขบังคับเรื่องการสั่งยากัญชาอย่างเข้มงวด เพราะกัญชามีทั้ง CBD และ THC ยากัญชาที่เราใช้สั่งผ่านองค์การเภสัชกรรมซึ่งน่าเชื่อถือที่สุด ในระยะแรกนำมาใช้เสริมการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
เพราะโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 เป็นศูนย์มะเร็งเป็นการแพทย์แพทย์เฉพาะทางที่เปิดมานานแล้ว รวมทั้งโรคทางประสาทหรือโรคที่ควบคุมโดยยาไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่ากัญชาไม่ใช่ยารักษาโรคแต่เป็นแค่ยาเสริมช่วยให้คนไข้ควบคุมโรคนั้นๆได้ดีขึ้น ทำให้คนไข้ทนเคมีบำบัดได้ดีขึ้น หรือทนรังสีรักษาได้ดีขึ้นหรือทานอาหารได้ดีขึ้น”
ในส่วนการเปิดใจยอมรับยากัญชาในภาคประชาชน คนที่มีความรู้น้อยมักจะไม่มีปัญหาเรื่องของการใช้และสามารถซื้อจากโรงพยาบาลข้างนอกได้ แต่คนที่มีความรู้มากจะค่อนข้างระวังเพราะยังเชื่อว่าจะเสพติด แต่เมื่อแพทย์อธิบายคนไข้จะเริ่มเปิดใจเพราะสั่งจ่าย รักษาภายใต้การควบคุมจากแพทย์จึงมีความปลอดภัย ตอนนี้โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต มีคนไข้ที่ได้รับการจ่ายยากัญชาและใช้ได้ผลดีกลับมารับยาต่อเนื่อง
ส่วนหนึ่งเพราะโรงพยาบาลได้ใช้ข้อชี้บ่งชี้ทางการแพทย์มาใช้ในการจ่ายยา และทุกครั้งในการจ่ายยาแพทย์จะแจ้งคนไข้ก่อนทุกครั้งถึงตัวยาที่ใช้รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยากัญชาด้วย และแพทย์ที่สั่งจ่ายต้องมีความแม่นยำและใช้ให้ถูกวิธี เพราะยากัญชาที่ได้มาจากองค์การเภสัชกรรมไม่มีรส ไม่มีกลิ่นทำให้เสี่ยงต่อการหยอดเกินหรือหยอดไม่ถึงจุด ซึ่งทางโรงพยาบาลแก้ปัญหาโดยหยอดลงช้อนเพื่อดูปริมาณที่ถูกต้อง ก่อนนำไปใช้กับคนไข้
“เราสังเกตว่าหลังจากที่มีกัญชาทางการแพทย์หรือกัญชาเสรี ทั้งโรงพยาบาลรัฐเอกชนจะต้องมารับผิดชอบคนไข้ที่เมากัญชาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งตอนนี้ก็มีคนไข้ฉุกเฉินที่มาด้วยอาการเมากัญชาโดยไม่รู้ตัวและคนไข้ที่มีอาการแพ้กัญชาเพราะฉะนั้นความรู้ของแพทย์จะต้องมีด้วย โรงพยาบาลของเรามีการสนับสนุนเรื่องนี้
เพราะเราเชื่อว่ามันมีประโยชน์ทางการแพทย์ดีกว่าให้คนไข้มาติดยานอนหลับ ยาคลายเครียด ถ้าแพทย์สั่งจ่ายมันดีที่สุดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าแพทย์ที่มีความรู้จริงจะไม่กลัวหรือลังเลที่จะจ่ายยากัญชาเพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารส่งเสริมให้แพทย์มีความรู้ความสามารถในการเสาะหาความรู้เหล่านี้ไหม”
ปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 สามารถสั่งจ่ายยากัญชาได้ทุกคน เพราะตอนนี้กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมและต้องมีใบประกาศนียบัตรรับรองเท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายได้ เพราะฉะนั้นปัจจุบันแพทย์ที่จบปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตสามารถสั่งยากัญชาได้
ส่วนหนึ่งที่แพทย์ของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 สามารถสั่งจ่ายยากัญชาได้ เพราะทางโรงพยาบาลทุ่มเรื่องของกัญชาทางการแพทย์อย่างเต็มที่โดยมีแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลที่สามารถทำงานเชื่อมกันได้ และนำศาสตร์เหล่านี้มาผสมผสาน เพื่อรักษาคนไข้
นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 ยังเป็นโรงพยาบาลเดียวในเครือที่มีกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้เชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลเครือข่ายในเครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ในการส่งต่อผู้ป่วยที่มีความประสงค์ใช้ยากัญชาหากคนไข้ไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทาง รวมทั้งส่งยากัญชาไปให้โรงพยาบาลในเครือเดียวกัน หากคนไข้มีความประสงค์และแพทย์ในโรงพยาบาลเครือข่ายนั้นมีความกล้าที่จะสั่งจ่าย เพราะยากัญชาไม่ใช่ยาที่เข้าถึงยากอยู่แล้ว
ตอนนี้มีปริมาณยากัญชาที่สั่งจ่ายออกไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังจากโควิดเป็นต้นมาปริมาณสั่งจ่ายยาอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ยังมีทิศทางการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและโรงพยาบาลไม่ได้มองว่าการรักษาด้วยกัญชาจะเป็นแหล่งรายได้หลักของโรงพยาบาล แต่เป็นเพียงตัวเสริมในการรักษาและทำให้คนไข้เข้าถึงยาด้วยความปลอดภัย
และในอนาคตเชื่อว่ายากัญชามีโอกาสที่จะถูกนำใช้ในโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทย แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังมีให้บริการแค่บางโรงพยาบาลเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารของแต่ละโรงพยาบาลเช่นกันเพราะถ้าผู้บริหารโรงพยาบาลไม่เอาด้วยแพทย์ก็ไม่สามารถสั่งจ่ายยาได้
คนไข้ของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 เป็นคนไทยเกือบ 100% เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลไม่ได้เน้นลูกค้าต่างชาติมากนัก ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 ได้จับมือกับ Dr.CBD มีการ MOU เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของ Dr.CBD ในคนไข้ของโรงพยาบาล ทั้งเวชภัณฑ์และอาหารเสริม ซึ่งโรงพยาบาลสามารถใช้และนำมาจำหน่ายให้กับคนไข้ได้
ซึ่งผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าไม่ค่อยมีผลข้างเคียงและน่าจะเป็นจุดที่จะทำให้คนไข้ต่างชาติสนใจเรื่องของกัญชง กัญชาและผลิตภัณฑ์ของDr.CBD มากขึ้นและมาใช้บริการที่โรงพยาบาล จุฬารัตน์ 9 มากขึ้นเช่นกันเพราะตอนนี้มุมมองของการใช้กัญชาทางการแพทย์ก็มีความคึกคักมากขึ้น
“เราต้องการเป็นกัญชาทางการแพทย์ครบวงจรไม่ใช่แค่กัญชาอย่างเดียว แต่จะต้องมีทั้งกัญชง กัญชาและในอนาคตถ้าสามารถมูฟไปถึงกระท่อมได้อีกก็จะยิ่งดี เพราะกระท่อมเองก็ดีมากสำหรับคนไข้เบาหวานแต่จะต้องถูกกำกับควบคุมและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อย่างชัดเจนก่อน ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนของการศึกษากับคนไข้ของเรา โดยเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าจะใช้รักษาคนไทยอย่างไรภายใต้สภาวิชาชีพที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ สำหรับการทดลองใช้ในมนุษย์เพื่อตีพิมพ์เป็นวารสาร”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,892 วันที่ 1 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566