กระแสฟาสต์แฟชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้ากว่า 1,000 ล้านชิ้นต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกมีประชากรเพียง 8,000 ล้านคน นั่นหมายความว่าแต่ละปีมีการผลิตเสื้อผ้าเกินความจำเป็น และสิ่งที่น่ากลัวกว่าฟาสต์แฟชั่น คือ Cheap Fashion เพราะแม้จะใช้วัตถุดิบต้นทางที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรเหมือนกัน แต่ถ้าตัดเย็บไม่ดี ทำไม่สวย เสื้อผ้าชิ้นนั้นจะเป็นการซื้อมาแล้วทิ้ง ไม่ถูกนำมาใช้งาน ซึ่งเป็นอีกมุมใหม่ ที่หากแบรนด์สามารถสื่อสารได้และผู้บริโภคเข้าใจเรื่องนี้ จะทำให้ขยะแฟชั่นลดลงและเกิดเป็น “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)
นางสาวธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “มอร์ลูป” (moreloop) แพลตฟอร์มผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมสิ่งทอออนไลน์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันในอุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยมี ผ้าส่วนเกินหรือ dead stock กว่า 350 ล้านตัน หรือสามารถนำมาผลิตเสื้อได้ประมาณ 700 ล้านตัว
เป็นของเสีย (waste) ที่ซ่อนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมของไทยยังไม่รวมกับต่างประเทศ ดังนั้นมอร์ลูป จึงตั้งเป้าหมายดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการนำผ้าส่วนเกินหรือ dead stock เหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผ่าน 2 บิสิเนสโมเดลหลักคือ
1. แพลตฟอร์มจำหน่ายผ้าส่วนเกินจากระบบอุตสาหกรรม
2. ผลิตเสื้อผ้าจากผ้าส่วนเกิน
“มอร์ลูปเป็นแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพคนกลางที่รวบรวมเอาข้อมูล (database) ของผ้าเหลือหรือผ้า dead stock หรือที่เราเรียกว่า “ผ้าเหงา” มาขึ้นตลาดออนไลน์ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ เพราะกว่าผ้าเหล่าจะเกิดมาต้องผ่านกระบวนการ ใช้สารเคมี ใช้ทรัพยากรและทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก แต่ด้วยระบบของอุตสาหกรรมทำให้ผ้าไม่ได้ถูกใช้ทั้งหมด 100%
ไอเดียของเราคือถ้าสามารถหมุนเวียนทรัพยากรเหล่านี้กลับมาอยู่ในระบบได้ก็จะกลายเป็น “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy ปัจจุบันเรารวบรวมฐานข้อมูลของผ้าจากโรงงานทั่วประเทศไทยได้กว่า 70 โรงงาน มีผ้าบนระบบมากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งก็ยังไม่ถึง 1% ของของเสียที่มีในประเทศเรา”
ปัจจุบันมีแบรนด์แฟชั่นและผู้ประกอบการเสื้อผ้าหันมาใช้ผ้า dead stock เยอะขึ้น ไม่ว่าจะผ่าน มอร์ลูป หรือแม้กระทั่งใช้ผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดของตัวเอง ซึ่งการที่ผู้ประกอบการหันมาเลือกใช้ของเหลือเหล่านี้โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป จะช่วยให้ทรัพยากรเหล่านี้ถูกใช้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น
ในส่วนของของการผลิตเสื้อผ้าจากผ้าส่วนเกินที่ผ่านมา มอร์ลูปได้ผลิตเสื้อให้กับลูกค้าองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์ระดับสหประชาชาติ บริษัทมหาชน เอกชน ธนาคารและStart Up ซึ่งอาจมีคำสั่งผลิตกว่า 7,000-8,000 ตัวมาตลอด 3 ปีต่อเนื่อง โดยบริษัทจะนำเสนอชนิดของผ้าที่ใช้ได้และเหมาะกับคอลเลคชั่นที่ลูกค้าต้องการ ส่วนดีไซเนอร์จะเลือกสีที่ใช้ได้และลูกค้าชอบจนออกมาเป็นคอลเลคชั่นต่างๆ ที่สำคัญคือต้องไม่สร้างของเสียขึ้นมาเพิ่ม
“โมเดลที่ 2 คือ การผลิตเสื้อผ้าจากผ้าส่วนเกิน อาจจะเหนื่อยในการแมชชิ่งเพราะมีข้อจำกัดทุกอย่างทั้งชนิดผ้า ปริมาณ สี สิ่งสำคัญคือการสื่อสารที่ดี เพราะการเห็นสินค้าสำเร็จรูปจะเข้าใจง่ายกว่า ดังนั้นเราร่วมมือกับหลายๆแบรนด์ที่มีหน้าร้านเพราะสามารถช่วยสื่อสารได้ หลายๆแบรนด์ที่มาใช้ เราก็จะขึ้น Sold Out หรือ limited edition เยอะเพราะเราโชว์ความลิมิตให้เป็นโพสิทีฟ”
นางสาวธมลวรรณ กล่าวอีกว่า ในการนำผ้าส่วนเกินหรือ dead stock เหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าของmore loopไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากไม่มีการผลิตผ้าใหม่ และการนำผ้าส่วนเกินมาใช้ เท่ากับเป็นการลดขยะที่จะต้องนำไปเผาทำลายหรือฝังกลบ เมื่อผ้าหมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพ
ล่าสุดมอร์ลูปร่วมมือกับเอ-เมส ในการสร้างสรรค์Mimi sustainability collectionโดยเลือกผ้าที่มีความเหมาะสมที่มีอยู่ในระบบ จากนั้นดีไซน์เสื้อผ้าออกมาในแนวสตรีทแวร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบแฟชั่นที่แตกต่างมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งแต่ละคอลเลคชั่นจะมีแบบและสีไม่เหมือนกันเกิดจากจำนวนผ้าส่วนเกินที่มีทำให้ได้เสื้อผ้าที่เรียกได้ว่าเป็น limited edition”
อีกกลุ่มธุรกิจที่ถือเป็นผู้นำแฟชั่นเข้าสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy คือ “บูติคนิวซิตี้” ในกลุ่มสหพัฒน์ โดยนางสาวประวรา เอครพานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “แฟชั่น” เคยถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะในกระบวนการผลิต มีทั้งการฟอก การย้อมสี รวมทั้งการตัดเย็บและเหลือผ้าส่วนเกิน แต่ปัจจุบันมีมีการตื่นตัวและนำหลัก Circular Economy เข้ามาลดการใช้ทรัพยากรประเภทวัสดุบริสุทธิ์หรือ Virgin material มากขึ้น
ในปี 2565 “บูติคนิวซิตี้” มีการใช้ผ้าในการตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งสิ้น 78,450.66 กิโลกรัม หรือกว่า 78 ตัน โดยผ้า 80% ถูกนำไปตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย และจะมีผ้าส่วนเกินคิดเป็น 20 % ของผ้าที่ใช้ทั้งหมด หรือ 15,690.13 กิโลกรัม หรือประมาณ 15.69 ตัน บริษัทจึงได้เริ่มโครงการ “A’MAZE Green Society” เพื่อมองหาคู่ค้าและคู่คิดที่เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับผ้าส่วนเกินเข้ามาทำงานร่วมกัน
“เราพบว่าระหว่างการตัดเย็บจะมีของเสีย อยู่ส่วนหนึ่ง คือ เสื้อ 1 ตัวจะมีผ้าส่วนเกินประมาณ 20% ต้องมีการ Upcycle เช่น จับมือกับ “ลฤก” แบรนด์พวงหรีดเสื่อ ในการนำผ้าส่วนเกิน 15% มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ผ้าเป็นการอัพไซเคิลนำไปติดบนเสื่อภายใต้โครงการ “ระลึกรักษ์” และเรายังเหลือผ้าส่วนเกินอีก 5% ซึ่งเราส่งผ้าส่วนเกินประเภทโพลีเอสเตอร์ให้ เดอะแพคเกจจิ้ง ทดลองในห้องวิจัยและเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นเม็ดพลาสติก และสามารถนำมาทอเป็นแผ่นและนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋ารักษ์โลก Mimi”
ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า ในการผลิตสินค้าจากผ้าเหงาหรือผ้าส่วนเกินจะต้องออกมาสวยและคนอยากใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ ดังนั้นในการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์จะต้องช่วยกันเปลี่ยนกระบวนการ (process) บางอย่างของตัวเอง มีการปรับจูนกันและเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจ
เช่น “มอร์ลูป” ที่ร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าคอลเลคชั่นพิเศษ ภายใต้ชื่อ Mimi X moreloop หรือโครงการ Organic Indigo ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครนำเสื้อผ้าขาวที่ส่งกลับจากร้านค้าในแต่ละสาขา อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากการลองชุด อาทิ คราบแป้ง เปื้อนลิปสติก ไปผ่านกระบวนการซักทำความสะอาด ออกแบบและทำสีขึ้นมาใหม่ด้วยการมัดย้อมด้วยครามธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้าน
“ความตื่นเต้นของคอลเลคชั่นนี้คือ ลิมิตทุกอย่าง ทั้งจำนวน ไซส์ และสี นอกจากแบรนด์ของเราเอง เรายังมีคำสั่งผลิตชุดยูนิฟอร์มให้กับลูกค้าองค์กรด้วย ซึ่งการใช้ผ้าประมาณ 78 ตันการนำผ้าส่วนเกิน 20% หรือ ประมาณ 15 ตันมาใช้ก็จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซต์ประมาณ 1.2 แสนกิโลคาร์บอน”
สำหรับแผนในอนาคตบริษัทจะยังคงมองหาคู่ค้าและคู่คิด โดยมุ่งเป้าไปที่บริษัทหรือโรงงานผ้าที่มีส่วนผสมของรีไซเคิลหรือโรงงานที่มีการใช้พลังงานน้อย ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันพบว่ามีหลายโรงงานที่อยู่ในระดับมาตรฐาน แต่ส่วนใหญ่จะส่งไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นภารกิจหลักยังคงเป็นการค้นหาซัพพลายเออร์
ขณะเดียวกันก็จะต้องหาคู่ค้าปลายทางหรือลูกค้าที่ยอมรับในคอนเซปท์นี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีลูกค้าองค์กรที่ติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แต่ทุกคนจะต้องยอมรับว่าการนำผ้าเหลือใช้หรือผ้ารีไซเคิลมาใช้ ไม่ได้ทำให้ต้นทุนถูกกว่าเดิมอย่างที่เข้าใจ
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,906 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566