ปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะ 5 ปีย้อนหลังมานี้ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” เป็นฟันเฟืองหลักในการดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้าประเทศ โดยมี สถานที่ท่องเที่ยว อาหารและการบริการ โดยเฉพาะ “Medical Tourism” หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ไทยพยายามโปรโมทว่าเป็น “เบอร์ต้นของโลก” เป็นตัวเรียกแขก
อย่างไรก็ตามภายหลังการสิ้นสุดของวิกฤตโควิด เศรษฐกิจในหลายประเทศยังไม่ฟื้นคืนและหันมาเป็นคู่แข่งของไทยในการดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จุดที่น่าเป็นกังวลของท่องเที่ยวเที่ยวไทยคือ นักท่องเที่ยวจีนที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังจ่ายในประเทศไทยสูง ส่อเค้าเดินทางเข้าไทย “ไม่เข้าเป้า”
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยราว 4.3 ล้านคนตํ่ากว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.3 ล้านคน จากแรงกระทบของเศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่ชะลอตัว ทำให้ชาวจีนรัดเข็มขัด ลดการเดินทางออกนอกประเทศ ไปจนถึงความกังวลด้านความปลอดภัยและอุปสรรคด้านวีซ่า
การกระตุ้นให้เม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวฟื้นตัว จึงเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” จึงเคาะแผน “วีซ่าฟรี” ออกมาทันที โดยกำหนดวีซ่าฟรี สำหรับนักท่องเที่ยวจาก 2 ประเทศ คือ จีนและคาซัคสถาน เพื่ออัดฉีดในช่วงโค้งสุดท้ายของปี มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งรัฐบาลตั้งความหวังว่าจะดึงจีนเข้าไทยได้ราว 1,912,000-2,888,500 คนสร้างรายได้เข้าประเทศ 92,583-140,313 ล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน 129,485 คน สร้างรายได้ 7,930 ล้านบาท
ขณะที่ “นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กลับมองว่า มาตราการฟรีวีซ่าจีนนี้ “อาจไม่ค่อยได้ผล” เพราะ “ฟรีวีซ่าจีนอาจจะช่วยเมดิคอลทัวริซึ่มได้บ้างแต่ไม่มาก เพราะตอนนี้เหลือเวลาแค่ 4 เดือนสุดท้าย ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 22 ล้านคนเป็นจีนแค่ 2.2 ล้านคน
ส่วนใหญ่คนจีนซื้อบริการสุขภาพในไทย 3 อย่างคือชะลอความแก่, ศัลยกรรมตกแต่งและ IVF เพราะคนจีนต้องการเลือกเพศ และ IVF ในเมืองจีนมีไม่กี่แห่ง ทำให้คิวยาว บางส่วนจึงเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย แต่เมื่อจีนจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศก็ “จบ” เพราะฉะนั้นปีนี้ “ยังไงไม่เข้าเป้าอยู่แล้ว” แต่ที่เข้ามามากขึ้นคือตะวันออกกลาง และอาเซียน”
ขณะที่ “ลภัสรดา เลิศภานุโรจ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ผู้บริหารโรงพยาบาลด้านศัลยกรรมความงาม “โรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ” (Masterpiece Hospital) กลับให้ความเห็นต่างออกไปโดยมองว่า ก่อนนโยบายฟรีวีซ่า ลูกค้าชาวจีนติด Top 5 ลูกค้าของ “มาสเตอร์พีซ” แต่เป็นชาวจีนจากหลายประเทศทั้งในไทย เมียนมา และแถบเพื่อนบ้าน
ส่วนนโยบายฟรีวีซ่านี้น่าจะเข้ามาช่วยในส่วนของประเทศจีน ที่น่าจะมากขึ้นถ้าไม่มีวีซ่า แต่การเติบโต ในเชิงอัตราของตัวเลขอาจจะไม่หวือหวามากแต่ทางกลับกันยอดการใช้จ่ายต่อบิลของบริการเสริมความงามจะพบว่า คนจีนใช้จ่ายสูงกว่าประเทศอื่นๆ เป็นทุนเดิม ดังนั้นการเปิดฟรีวีซ่าจะไม่ได้ช่วยแค่เรื่องของธุรกิจศัลยกรรมแต่รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจในประเทศเยอะมากๆ
“ในส่วนของ “มาสเตอร์พีซ” ลูกค้าคนจีนที่เข้ามารับบริการทางด้านผิวหนังจะใช้จ่ายต่อบิล 2-5 แสนบาท เป็นการจ่ายแบบ “ไม่คิด” และรับบริการหลายอย่างในทริปเดียว เพราะกลุ่มนี้เข้ามาเพื่อจับจ่ายซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาทำหน้าอกและจมูก นอกจากจีนแล้วลูกค้าต่างชาติหลักๆ จะเป็นอินโดนีเซียและอาหรับที่เริ่มเข้ามาในส่วนของตัวศัลยกรรมเช่นทำจมูกปลูกผม และบอดี้คอนทัวร์
เช่น กำจัดหนังหน้าท้อง ดูดไขมัน ซึ่งเราเองได้เพิ่ม capacity ไว้รองรับลูกค้าต่างชาติเพิ่มอยู่แล้วทั้งอัตรากำลังคนและเครื่องมือ รวมทั้งในส่วนของลูกค้าจีนเรามีทั้งล่างจีน เซลล์ที่สามารถพูดภาษาจีนได้และบุคลากรที่ดูแลลูกค้าคนจีนโดยเฉพาะ รวมๆ แล้วเกือบ 10 คน”
อีกมุมมองที่น่าสนใจคือ “นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ” ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท ที่สะท้อนให้ฟังว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่เท่าเดิมกับช่วงก่อนโควิด แต่ไทยจะต้องวางแผนและสร้างแม็กเน็ตใหม่ถ้าต้องการให้ประเทศไทยเป็น destination of the world ของสุขภาพ เพราะหากทำแบบเดิมเราอาจจะเหนื่อย
เพราะตอนนี้ทั่วโลกเห็นการท่องเที่ยวเป็นแมกเน็ตสำคัญ ไทยตอนนี้นโยบายภาครัฐก็ช่วยมากขึ้นเรื่อยๆทั้งการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทางด้านสุขภาพ เช่น Andaman Wellness Economic Corridor (AWC) ที่ประกาศออกมาเรียบร้อยและได้ยินว่าจะมีอีกหลายเขตที่ใช้จังหวัดดีๆดึงให้คนมาเที่ยวเยอะๆ หรือจะเป็นฟรีวีซ่าจีน-คาซัคสถานที่เพิ่งออกมา ส่วนจะช่วยหนุนเวลเนส ทัวริซึมได้มากน้อยแค่ไหน คิดว่าจะต้องใช้เวลาเพราะการจะเป็นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้จะต้องเริ่มจากการท่องเที่ยวปกติก่อน
ผลลัพธ์จากนโยบายนี้จะเป็นอย่างไร อีก 4 เดือนข้างหน้ามาลุ้นกัน