นางสาวจันจิรา จันทร์โฉม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเครื่องสำอางและน้ำหอม บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือสหพัฒน์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2567 ไอ.ซี.ซีฯ พร้อมเดินหน้านำ BSC บุกตลาดเครื่องสำอางเต็มรูปแบบ ทั้งในกลุ่ม Color Makeup และ Natural Color โดยจะใช้งบประมาณเกือบ 50% ของงบลงทุนทั้งปี เพราะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ความนิยมในการแต่งหน้าก็กลับมา ทุกแบรนด์เครื่องสำอางของ BSC จึงต้องออกมาขับเคลื่อนกลยุทธ์การทำตลาด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่ม Makeup ที่ต้องนำเสนอสีสันในผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ทั้งลิปสติก บลัชออน และอายแชโดว์ เป็นต้น
“แม้เราจะลงทุนไปกับสินค้ากลุ่ม makeup แต่ผลิตภัณฑ์หลักยังคงเป็นกลุ่มดูแลผิวกับแป้งที่ยังมีสัดส่วนการลงทุนค่อนข้างสูง และต้องจัดสรรแคมเปญออกมาสู่ตลาดด้วยเช่นกัน ซึ่งปีที่ผ่านมาแบรนด์ BSC ถือว่าประสบความสำเร็จในการสื่อสารให้ลูกค้าได้รับรู้ผ่านพรีเซ็นเตอร์ แต่ในปีนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะใช้การสื่อสารแบบไหน ระหว่างผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือพรีเซ็นเตอร์ดาราดัง”
โดย BSC วางแผนเพิ่มจุดขายผลิตภัณฑ์ผ่าน Beauty Store เพิ่มยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม CLMV ทั้งกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกให้ได้มากกว่า 5% เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีความใกล้เคียงกับคนไทย นิยมสินค้าไทย แต่ต้องอยู่ในระดับราคาที่จับต้องได้ไม่เกิน 100 บาทต่อชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทครีมซอง
ปัจจุบัน BSC มีเคาน์เตอร์แบรนด์อยู่ทั่วไปกว่า 270 จุด มีจุดวางผลิตภัณฑ์ขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไปรวมถึงช้อปต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น Boots, Watsons เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรับแพ็กเกจจิ้งของผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย เหมาะสมกับการใช้มากขึ้น ในบางคอลเลคชั่นอาจจะได้ลูกค้าในกลุ่มที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และยังมีทิศทางสำหรับการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่ความยั่งยืน ซึ่งจะสะท้อนผ่านสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามในปีนี้
นางสาวจันจิรา กล่าวอีกว่า ก่อนเกิดโควิด-19 แบรนด์ BSC เคยมีรายได้รวมสูงสุดอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท และคงอยู่ในหลัก 1,000 ล้านบาท กระทั่งเกิดโควิด-19 รายได้ติดลบ 50% หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น จนในปี 2565 ปิดตัวเลขรายได้ราว 600 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 จะเติบโต 16% มีรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท ส่วนปี 2567 ตั้งเป้าการเติบโตไว้ 20% พร้อมดันรายได้กลับขึ้นไปสู่หลัก 1,000 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตถือว่าสูงกว่าภาพรวมของตลาดที่เฉลี่ย 9% ต่อปี
สำหรับตลาดเครื่องสำอางไทยมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาท เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่รวมผลิตภัณฑ์หลายกลุ่มไว้ด้วยกัน และ BSC ถือว่าเป็นแบรนด์เครื่องสำอางค์ไทย 100% ที่ผู้บริโภคมักจะนึกถึง ขณะที่การรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness) BSC ติดอยู่ในอันดับ 2 ขณะที่ในตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skincare) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% BSC จะมีส่วนแบ่งการตลาดน้อยมาก แต่ก็มีผลิตภัณฑ์อีกหลายแบรนด์ภายใต้แบรนด์ BSC ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เช่น BSC Honei V, BSC Arty, BSC Purecare เป็นต้น
“BSC Purecare ตั้งเป้าให้เป็นแบรนด์สกินแคร์เพื่อผิวแพ้ง่ายอันดับ 1 ของตลาดในอนาคต เพราะเป็นคอนเซปท์ ที่พยายามสื่อสารกับผู้บริโภคมาตลอด 37 ปี แต่ยังคงอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เพราะผู้บริโภคเพิ่งจะให้ความสนใจเกี่ยวกับการแพ้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นส่วนแบ่งการตลาดจึงถือว่าน้อยมาก น่าจะไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์สกินแคร์ทั่วไปที่อยู่ในตลาด
ในอดีต BSC ถือว่าเป็นแบรนด์เครื่องสำอางเบอร์ 1 ของประเทศไทยและเป็นเครื่องสำอางอยู่บนเคาน์เตอร์แบรนด์ มีคู่แข่งไม่มาก แต่ปัจจุบันมีคู่แข่งจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี หลายแบรนด์จัดแคมเปญจ้างพรีเซนเตอร์เบอร์ใหญ่ระดับประเทศมาโปรโมทโดยเฉพาะ พร้อมกับผลิตสินค้าบุกตลาดแมส (Mass Market ) จัดจำหน่ายผ่านช้อปต่าง ๆ
ทำให้การแข่งขันในตลาดค่อนข้างรุนแรง ขณะที่เครื่องสำอางอยู่บนเคาน์เตอร์แบรนด์ปรับตัว ขยายตลาดช้ากว่า ซึ่ง BSC เอง พยายามปรับตัวลงมาสู้ศึกในตลาดแมส แม้จะช้ากว่าแบรนด์อื่นก็ตาม โดยมีเป้าหมายที่จะขยายช่องทางการจำหน่ายเพิ่มไปยังร้านเซเว่น อีเลฟเว่น, อีฟแอนด์บอย ฯลฯ จากปัจจุบันที่มีวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทั่วไป”
ด้านนางมาลี หาญสุโพธิพันธ์ กรรมการและผู้จัดการฝ่ายเทคนิค บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอรา-ทอรีส์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ตลาดเครื่องสำอางถูกคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2565 ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีก 5 ปี ส่งผลให้ตลาดโลกมีอัตราการเติบโตประมาณ 4% ส่วนตลาดประเทศไทยจะเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดโลกประมาณ 5%
โดยในปี 2565 ตลาดเครื่องสำอางไทยมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท แต่ต้องดูภาวะเศรษฐกิจควบคู่กันไป หากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอาจถึง 3 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงที่มูลค่าตลาดค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาดี
ในประเทศไทยเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ สกินแคร์ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิว เนื่องจากไทยมี Multinational Brand ทั้งการรับจ้างผลิตและผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Makeup หรือประเภทเครื่องสำอางแต่งหน้าก็เริ่มมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีนี้
“ตลาดนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทย หรือมวลรวมของสินค้าคอสเมติก ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 75% ขณะที่เครื่องสำอางไทยส่งออกไปยังต่างประเทศราว 25% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (Hair Care) ส่งไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ด้วยสัดส่วนราว 25% ถัดมาคือประเทศญี่ปุ่น 16% และประเทศในเอเชียอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ 11% ฯลฯ แม้ช่วงเกิดโควิด-19 จะลดลงไปเล็กน้อย แต่หากเทียบกับประเทศอื่นถือว่าสถานการณ์ส่งออกของแบรนด์ไทยยังดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องสำอางในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หลายบริษัทหันมาให้ความสนใจคือ “เทรนด์รักษ์โลก” โดยมักจะเลือกวัตถุดิบจากธรรมชาติหรือสารสกัดจากธรรมชาติมาใช้ ที่สำคัญคือต้องเป็นวัตถุดิบปลูกเอง ปลอดสารพิษ ไม่ทำลายป่า ยกตัวอย่าง เช่น สารสกัดจากปาล์มที่ผู้ผลิตเครื่องสำอางจากทั่วโลกนิยมใช้ และปาล์มนั้นต้องมีมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567