‘เสถียร’ ปั้น ‘ตะวันแดง IPA’ ชิงตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้าน

23 มี.ค. 2567 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2567 | 09:11 น.

ตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้านคึกคัก “กลุ่มคาราบาว” บุกตลาดระลอก 2 ล้อนซ์ “ตะวันแดง IPA” จัดทัพลงพื้นที่ผ่านเอเย่นต์ทุกอำเภอ พร้อมปูพรมเจาะซีเจ มอร์ กว่า 1,000 สาขา โมเดิร์นเทรด โชห่วย

การประกาศตัวลงสู้ศึกในตลาด “เบียร์” มูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาทของ “กลุ่มคาราบาว” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 สร้างความฮือฮาไม่เบา เพราะด้วยฐานรากของกลุ่มคาราบาวที่แข็งแกร่ง พิสูจน์ได้จากผลงานการนำทัพ “คาราบาวแดง” รุกตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง และ กลุ่มค้าปลีกภายใต้แบรนด์ “ซีเจ” และผลลัพธ์จากการล้อนซ์ 2 แบรนด์แรกในตลาดเบียร์อย่าง “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” สร้างปรากฏการณ์ “เบียร์ขาดตลาด”

นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์คาราบาว และเบียร์ตะวันแดง เปิดเผยว่า หลังเปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ คือ เบียร์คาราบาว 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer และ Dunkel Beer และเบียร์ตะวันแดง 2 รสชาติ ได้แก่ Weizen Beer และ Rose Beer ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เกินกว่าที่คาดหมายไว้

‘เสถียร’ ปั้น ‘ตะวันแดง IPA’ ชิงตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้าน

ล่าสุดกลุ่มคาราบาว ได้เปิดตัว “ตะวันแดง IPA” (เบียร์ตะวันแดงไอพีเอ) เบียร์ตัวที่ 5 ซึ่งเป็น Creative Beer เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับคนไทยให้สามารถเข้าถึงเบียร์มากยิ่งขึ้น โดยตะวันแดง IPA มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5.5% ขนาดกระป๋องเล็กราคา 45 บาท และกระป๋องใหญ่ราคา 60 บาท

ด้านกลยุทธ์การทำตลาด บริษัทมุ่งวางจำหน่ายเบียร์ตะวันแดง IPA ผ่านร้านค้าในเครือข่ายของกลุ่มคาราบาว ได้แก่ CJ MORE ที่มีมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ, ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มีร้านค้าอยู่ทั่วประเทศ และหน่วยรถในศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 30 แห่ง ที่สามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางของโมเดิร์นเทรด อาทิ Lotus’s, GO Wholesale, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, ท็อปส์, Lawson108, Foodland และ วิลล่า มาร์เก็ท

ขณะเดียวกันก็วางจำหน่ายผ่านช่องทาง On-premise ได้แก่ ร้านอาหาร ผับบาร์ สถานบันเทิงต่างๆ ภายในเดือนมีนาคมนี้ รวมทั้งการเจาะเข้าเทรดดิชันนอลเทรดพร้อมกระจายสินค้าตรงสู่เอเยนต์หรือตัวแทนจำหน่ายประจำพื้นที่ระดับอำเภอ ทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อทำให้สินค้าสามารถเจาะเข้าถึงร้านค้าย่อยหรือโชห่วยทั่วประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เสถียร เสถียรธรรมะ

สำหรับตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้านบาท ปัจจุบันแบ่งออกเป็นเซ็กเม้นท์เบียร์อีโคโนมี 75% เบียร์สแตนด์ดาร์ด 20% และเบียร์พรีเมียม 5%

“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าตลาดเบียร์มีเพียงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่กี่แบรนด์ ทำให้นักดื่มไม่มีทางเลือกมากนัก ในขณะที่มีนักดื่มจำนวนมากที่ต้องการดื่มเบียร์หลากหลาย แต่เบียร์เหล่านี้มักเป็นเบียร์นำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสเข้าถึงมีน้อย จึงถือเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น สำหรับกลุ่มคาราบาว เองมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำเสนอทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้

ปัจจุบันตลาดเบียร์มีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาท ถือเป็นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุด โดยที่ผ่านมากลุ่มคาราบาวได้ทุ่มงบลงทุน 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่จังหวัดชัยนาท ด้วยเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานโลกจากเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตร ช่วงแรกนำร่องการผลิตที่ 200 ล้านลิตร

ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุด นับจากการลงทุนโรงสุราตะวันแดง1999 รวมถึงทุ่มงบการตลาดครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 20 ปี ทำให้เชื่อมั่นว่าเราจะมีส่วนแบ่งการตลาดราว 30% ในปีแรก และก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นหลัก1 ใน 3 ของตลาดเบียร์เมืองไทย”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,976 วันที่ 21 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2567