นางสาวณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดขนมขบเคี้ยวในไทยปัจจุบันมีมูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 5-6% โดยเฉพาะตลาดข้าวตังที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท เติบโต 15% ต่อปี ซึ่งมองว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก พร้อมรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดใน 2 กลุ่มสินค้าหลักคือ “ข้าวตัง” ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 78.5% และ “ขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากหมู” ที่มีส่วนแบ่งตลาด 57.2%
ในปีนี้ เจ้าสัวทุ่มงบด้านการตลาด 70 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเป็น "ขนมขบเคี้ยวสัญชาติไทยรูปแบบใหม่" (Modern Thai Snack) ด้วยการสื่อสารแบรนด์ในวงกว้าง ขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ และรุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง ด้วยกลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย
ตอนนี้เจ้าสัวฯได้ขยายตลาดส่งออกไปมากกว่า 12 ประเทศ ตั้งเป้าปีนี้เติบโต 15% โดยมุ่งเน้นขยายตลาดจีนและอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง จากผลงานที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ดีที่สุดใน 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อเมริกา ฮ่องกง และออสเตรเลีย
นายสิริณัฏฐ์ ชญาน์นันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 15% จากปี 2566 กลยุทธ์หลักคือ การขยายตลาดในประเทศจีนและอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมาก
สำหรับตลาดจีน บริษัทวางแผนรุกทุกแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ปรับแพคเกจจิ้งให้เหมาะกับผู้บริโภคชาวจีน และสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่าน Key Opinion Leaders (กลุ่มคนที่ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้บริโภค หรือผู้ที่มีชื่อเสียงทางโซเชียลมีเดียต่างๆ)
ส่วนตลาดอเมริกา บริษัทเน้นทำตลาดในกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในอเมริกา ขยายช่องทางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ นอกจากนี้ ยังมีแผนเจาะตลาดใหม่เพิ่มอีก 2-3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
โดยเฉพาะตลาดเกาหลีใต้ บริษัทมองเห็นโอกาสจากกระแสความนิยมในสินค้าไทย ประกอบกับมีอินไซด์ไอดอลเกาหลีนำสินค้าเจ้าสัวไปรีวิวแบบออร์แกนิกจำนวนมาก บริษัทจึงมั่นใจว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจส่งออก และผลักดันให้เจ้าสัวเป็นแบรนด์ข้าวตังชั้นนำระดับโลก
ปีนี้ตั้งเป้าขยายสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 27% ในอดีตเมื่อ 3 ปีก่อน ตลาดต่างประเทศบริษัทเน้นรับจ้างผลิต (OEM) ถึง 80% และมีแบรนด์ของตัวเองเพียง 20% แต่ขณะนี้ได้เร่งทำตลาด จนตอนนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 60% สำหรับกลยุทธ์ในประเทศ จะเน้นการขยายช่องทางค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade : TT) อาทิ ร้านโชห่วย เพิ่มเป็น 2 หมื่นร้านค้า จากเดิมมีอยู่ 8,000 ร้านค้า ซึ่งมีสินค้าเจ้าสัว ราคา 20 บาท เป็นสินค้าหลัก
ขณะที่ช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) มุ่งเน้นสินค้ากลุ่มพรีเมียม เช่น ข้าวตังอบกรอบ ข้าวตังแผ่นใหญ่ เป็นต้น โดยบริษัทมั่นใจว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้ เจ้าสัวขึ้นเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวไทยชั้นนำ และเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น
จากข้อมูลล่าสุด คาดการณ์ว่าในปีนี้ สัดส่วนพอร์ตของช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิมและโมเดิร์นเทรดจะปรับสมดุลอยู่ที่ 50:50 เปลี่ยนแปลงจากปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้รวม 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็น โมเดิร์นเทรด 37%, ค้าปลีกดั้งเดิม 30%, ส่งออกต่างประเทศ 27% และ อื่นๆ 6% การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของโมเดิร์นเทรด ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการช้อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์และซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ศักยภาพของค้าปลีกดั้งเดิม ร้านค้าแบบดั้งเดิมยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่น
นายสิริณัฏฐ์ กล่าวว่า ตลาดข้าวตังยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากจำนวนผู้บริโภคที่ยังไม่เคยลองชิม ทางแบรนด์ข้าวตังเจ้าสัวจึงเดินหน้าสร้างการรับรู้ใหม่ ผ่านแคมเปญ "Taste The Truth ข้าวตังเจ้าสัว ท้าชิมก่อนเชื่อ" วางกลยุทธ์ 3 เฟส ดังนี้
แคมเปญเหล่านี้จะมุ่งสร้างการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับข้าวตังเจ้าสัว ว่าเป็นขนมรองท้องที่มีประโยชน์ทางโภชนาการ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ เราต้องการขยายฐานลูกค้า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มองหาขนมทานเล่นที่ดีต่อสุขภาพ โดยใช้กลยุทธ์สร้างประสบการณ์การลองชิม กระตุ้นการบอกต่อ และสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์
"เชื่อว่าข้าวตังเจ้าสัวมีศักยภาพสูงที่จะกลายเป็นขนมดาวรุ่ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในตลาดสาหร่าย โดยแคมเปญนี้ตั้งเป้าเพิ่มยอดขาย 20% และขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยหวังว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของข้าวตัง ให้กลายเป็นขนมที่ทุกคนนึกถึงเมื่อต้องการหาขนมทานเล่นที่ดีต่อสุขภาพ"