“ไปรษณีย์ไทย” ต่อยอดธุรกิจ จำหน่าย “ข้าว-น้ำดื่ม-กาแฟ” ภายใต้แบรนด์ตราไปรฯ

05 เม.ย. 2567 | 06:35 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 06:44 น.

“ไปรษณีย์ไทย” ต่อยอดธุรกิจเดินหน้ากลยุทธ์ “เฮาส์แบรนด์” สินค้าตราไปร ข้าว - น้ำดื่ม – กาแฟ “สินค้าพรีเมียม ในราคาเฟรนด์ลี่” พร้อมส่งตรงถึงหน้าบ้าน

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาสินค้า House Brand ภายใต้ชื่อ "สินค้าตราไปร" ซึ่งเป็นการนำทรัพยากร และ ศักยภาพของเครือข่ายไปรษณีย์ ที่ครอบคลุมกว่า 30,000 แห่ง และบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คน ที่พร้อมให้บริการตลอด 365 วัน นำข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าทั้งในเรื่องพื้นที่ สินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และสินค้าจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพดีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ที่พร้อมจำหน่ายในที่ทำการไปรษณีย์ การขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงบริการขนส่งที่รวดเร็วและพร้อมส่งให้ถึงมือคนไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้ “สินค้าตราไปร” ได้คัดสรรสินค้าคุณภาพดีมานำเสนอให้ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมี 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่

  • น้ำดื่มตราไปร (PRAi Water) น้ำดื่มคุณภาพที่ผลิตจากแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติบรรจุขวด มี 3 ขนาด ได้แก่ ขนาด 350 ml ราคา 45 บาท/แพ็ก ขนาด 600 ml และ 1,500 ml ราคา 50 บาท/แพ็ก
  •  ข้าวสารตราไปร ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิสุรินทร์แท้ 100% เมล็ดสวย หอม นุ่ม หุงแล้วขึ้นฟู  บรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 200 บาท
  •  ไปรคอฟฟี่กาแฟสำเร็จรูป (PRAi Coffee) กาแฟสำเร็จรูปจากกาแฟอาราบิกาแท้ 100% ไม่มีคอเลสเตอรอล มีจำหน่าย 2 สูตร ได้แก่ สูตร 3-in-1 หอมกรุ่น รสชาตินุ่มละมุนลิ้น ราคา 130 บาท และกาแฟดำสูตรผสมสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยสูตรดังกล่าวประกอบด้วย ผงดอกคำฝอย สารสกัดใบแปะก๊วย สารสกัดเห็ดหลินจือ และผงเถาวัลย์เปรียง ในราคาเพียง 150 บาท

“ไปรษณีย์ไทย” ต่อยอดธุรกิจ จำหน่าย “ข้าว-น้ำดื่ม-กาแฟ” ภายใต้แบรนด์ตราไปรฯ

 

 

“สินค้าตราไปร พัฒนาขึ้นภายใต้เป้าหมายของไปรษณีย์ไทยที่มีความมุ่งมั่นคัดสรรของดีและส่งให้คนไทยได้บริโภค เห็นได้จากการพัฒนาแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ทที่รวบรวมสินค้าของดีกว่า 15,000 รายการมาไว้บนช่องทางออนไลน์ การส่งเสริมสินค้าชุมชนภายใต้โครงการไปรษณีย์เชื่อมสุข อีกทั้งยังเป็นไปตามกระแสของผู้บริโภคชาวไทยที่หันมาเลือกซื้อสินค้า House Brand เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความพรีเมียม ราคาที่เอื้อมถึงง่าย นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับชุมชนที่เป็นแหล่งกำเนิดวัตถุดิบได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย”