“ฟ้องคดีต่อศาล ต้องใช้บริการไปรษณีย์ไทย หากยื่นผ่านเอกชนไซร้ ท่านว่าต้องแนบใบมอบฉันทะ !”
ข้อความข้างต้น ... คงพอจะทำให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงประเด็นที่จะคุยกันในวันนี้ ซึ่งก็คือการฟ้องคดีต่อศาลผ่านทางไปรษณีย์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร ให้มีผลโดยชอบด้วยกฎหมายนั่นเองครับ !
แน่นอนว่า ... หากเป็นเมื่อแต่ก่อน หน้าที่ในการจัดส่งพัสดุหรือดูแลรับผิดชอบกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย ย่อมเป็นของ “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” (เดิมคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)) เป็นหลัก
แต่ด้วยการเชื่อมต่อโลกในยุค 5G ที่จะคิดทำสิ่งใดก็ง่ายเพียงปลายนิ้ว เฉกเช่นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจขนส่งพัสดุหรือสินค้าที่ให้บริการโดยบริษัทเอกชนเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบัน
แถมยังส่งผลไปถึงการจัดส่งเอกสาร หรือ การฟ้องคดีต่อศาล เช่น การส่งคำฟ้อง หรือ คำอุทธรณ์ รวมทั้งพยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาลปกครองผ่านทางไปรษณีย์
ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนดให้จะต้องส่งผ่านทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือไปรษณีย์เอกชนที่ลงทะเบียนเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ เท่านั้น
แต่เอ๊ะ ! ถ้าเราต้องการจะส่งผ่านบริษัทขนส่งเอกชนหรือไปรษณีย์เอกชน นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ซึ่งมีให้เลือกมากมาย เช่นนี้ ... จะทำได้หรือไม่ ? หรือต้องทำอย่างไรจึงจะมีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย ... อย่ารอช้า ตามนายปกครองมาส่งคำฟ้อง และไปหาคำตอบกรณีดังกล่าวกันเลยครับ !
มูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก ... ผู้ฟ้องคดีซึ่งเดิมเป็นพนักงานส่วนตำบลได้ยื่นฟ้องคดี เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของนายก อบต. และมติของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลที่สั่งลงโทษไล่ตนออกจากราชการ โดยเห็นว่าการสั่งลงโทษดังกล่าวไม่เหมาะสมกับความผิด และตนมิได้กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากคำฟ้องซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองได้รับไว้นั้น จัดส่งโดยพนักงานของบริษัทเอกชนที่ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน
แต่ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาต หรือมีสัญญาหรือข้อตกลงในการประกอบกิจการส่งไปรษณียภัณฑ์กับบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ แต่อย่างใด
บริษัทเอกชนรายนี้จึงมิใช่ตัวแทนหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ให้ดำเนินกิจการแทน อันมิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์ และถือไม่ได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนดไว้
ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยเห็นว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่มีบริการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วไทย มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ให้บริการด้านงานเอกสารครบวงจร
จึงมีความน่าเชื่อถือและน่าจะถูกต้องตามระเบียบของ บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ในการให้บริการด้านการจัดส่งพัสดุ และสอดคล้องกับนโยบายศาลปกครองที่ต้องการให้การติดต่อราชการระหว่างคู่กรณีและประชาชนกับศาลปกครองเป็นเรื่องที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่าย และสามารถติดต่อได้หลายช่องทาง การจัดส่งคำฟ้องผ่านทางบริษัทเอกชนดังกล่าว จึงน่าจะกระทำได้โดยชอบ
ประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีส่งคำฟ้องให้กับพนักงานของบริษัทเอกชนดังกล่าว จะไม่ถือเป็นการยื่นคำฟ้องต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์ก็ตาม (ดังเหตุผลที่ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น) แต่การตีความเพียงวิธีการส่งเช่นนั้นแล้วนำมาเป็นเหตุให้ศาลไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาเสียทีเดียว
ย่อมเป็นการตีความที่จำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการเข้าถึงความยุติธรรมทางปกครองอยู่ทางหนึ่งเช่นกัน เพราะการยื่นคำฟ้องในลักษณะดังกล่าวเพื่อนำส่งต่อศาลปกครองชั้นต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ประสงค์ที่จะยื่นคำฟ้องต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์ หากแต่เป็นกรณีที่ประสงค์จะยื่นคำฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครอง โดยมอบให้ผู้อื่นมายื่นคำฟ้องแทนตน
แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาต หรือ มีสัญญาหรือข้อตกลงในการประกอบกิจการส่งไปรษณียภัณฑ์ กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ และไม่ใช่ตัวแทนหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ให้ดำเนินกิจการไปรษณีย์ อันเป็นเหตุให้พนักงานของบริษัทดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะของเจ้าพนักงานไปรษณีย์ก็ตาม
แต่พนักงานของบริษัทก็ อยู่ในฐานะของบุคคลที่มีสิทธิรับมอบฉันทะจากผู้ฟ้องคดีให้มายื่นฟ้องคดีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองแทนผู้ฟ้องคดีได้
ดังนั้น เมื่อคำฟ้องดังกล่าวเป็นฉบับที่ผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อของตนแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้แนบใบมอบฉันทะให้พนักงานของบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีแทนมาด้วย จึงเป็นเพียงคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน และเป็นกรณีที่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
โดยส่งใบมอบฉันทะต่อศาลปกครองชั้นต้นในภายหลัง ตุลาการเจ้าของสำนวนในศาลปกครองชั้นต้น จึงต้องมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขข้อที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนนั้น ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ตามข้อ 37 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 336/2566)
จากคดีดังกล่าวสรุปได้ว่า ... ศาลปกครองสูงสุดท่านได้วินิจฉัยวางแนวทางให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานต่อศาลปกครอง กรณียื่นผ่านบริษัทขนส่งเอกชนว่าสามารถกระทำได้ในฐานะของบุคคลที่มีสิทธิรับมอบฉันทะจากผู้ฟ้องคดี
และแม้ผู้ฟ้องคดีจะมิได้แนบใบมอบฉันทะให้พนักงานของบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีแทนมาด้วยแต่แรก ก็เป็นกรณีที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยส่งใบมอบฉันทะต่อศาลในภายหลังภายในระยะเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ดี มีข้อพึงต้องระวังว่า ในกรณีที่ยื่นผ่านบริษัทเอกชน วันที่ถือว่ามีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น จะไม่ใช่วันที่ยื่นต่อบริษัทเอกชนเหมือนดังกรณีของการยื่นคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
หากแต่จะถือว่าวันที่พนักงานของบริษัทเอกชนได้ยื่นคำฟ้องและพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองได้รับไว้เป็นวันที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งกรณีจะมีผลต่อการพิจารณาถึงความชอบด้วยเงื่อนไขการฟ้องคดี ในเรื่องของกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลด้วยครับ
เช่นนี้จะเห็นได้ว่า ... ศาลปกครองได้ให้ความสำคัญและตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางศาล ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)