TCP กระทิงแดง ทุ่มหมื่นล้านขยายฐานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในจีน-เนปาล

10 พ.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2567 | 07:02 น.

TCP กระทิงแดง ทุ่มหมื่นล้านขยายฐานผลิตเครื่องดื่มพลังงานในจีน-เนปาล ย้ำไม่ปรับขึ้นราคา หลังตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไทยแข่งขันราคาหนัก เตรียมแผนล้อนซ์โปรดักส์ใหม่ พร้อมเปิดตัว “TCP Legacy Museum” มิวเซียมประวัติศาสตร์แบรนด์กระทิงแดง ครั้งแรก

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง สปอนเซอร์ และอื่นๆ กล่าวว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในปีนี้ ต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ แม้ว่าในไตรมาสแรกจะเติบโต 4-5% แต่แนวโน้มที่เหลือของครึ่งปีหลังคาดว่าจะชะลอตัวลง ด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่

  • ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของวัตถุดิบหลัก เช่น น้ำตาล ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตโดยรวม
  • สถานการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศส่งผลต่อราคาน้ำมัน และค่าขนส่งสินค้า
  • สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคอ่อนไหวต่อราคาสินค้า
  • มีผู้เล่นใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันราคาดุเดือด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าราคา 10 บาท

TCP กระทิงแดง ทุ่มหมื่นล้านขยายฐานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในจีน-เนปาล

นายสราวุฒิ กล่าวว่า แม้จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่บริษัทกระทิงแดงยังคงมุ่งมั่นตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและรักษาความสามารถในการแข่งขัน

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้หลายแบรนด์เครื่องดื่มในประเทศไทย ต่างมุ่งขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามและจีน ซึ่งเปรียบเสมือนเป้าหมายหลัก ด้วยศักยภาพการเติบโตที่สูง ทำให้ตลาดเวียดนามคึกคักเป็นพิเศษ ประกอบกับวัฒนธรรมการดื่มที่แตกต่างจากประเทศไทย ซึ่งคนเวียดนามนิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อดับกระหาย ควบคู่ไปกับมื้ออาหาร

รวมถึงไลฟ์สไตล์การทำงานหนัก ส่งผลให้เครื่องดื่มชูกำลังกลายเป็นตัวช่วยเพิ่มพลังงานที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องดื่มชูกำลังในเวียดนามยังมีราคาค่อนข้างถูกและหาซื้อได้ง่าย ทำให้ภาพรวมในปัจจุบัน เรดบูล เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในประเทศเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50%

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้จะเน้นไปที่ประเทศจีน ตอนนี้บริษัทลงทุนสร้างโรงงานผลิตเรดบูลแห่งที่ 3 ในเมืองกวางสี งบลงทุน 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มได้ในต้นปี 2568 ปัจจุบันกระทิงแดงมีโรงงานในจีนอยู่แล้ว 2 แห่ง และครองส่วนแบ่งการตลาดในจีน 40%

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับกลุ่มเคทาน (Khetan Group) พันธมิตรในประเทศเนปาล ก่อตั้งโรงงานแห่งแรก ในอมราปุรี เพื่อรองรับการขยายตลาดในเนปาลและประเทศใกล้เคียง โดยโรงงานแห่งนี้เริ่มผลิตไปแล้วเมื่อปี 2566

TCP กระทิงแดง ทุ่มหมื่นล้านขยายฐานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในจีน-เนปาล

ปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยมีทั้งหมด 8 โรง มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 60% หรือประมาณ 1,550 ล้านลิตร มีแผนปรับโรงงานให้เป็น "สมาร์ทแมนูแฟคเจอริง" จำนวน 5 ไลน์การผลิตภายในปีนี้ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 1 ที่ การปรับเปลี่ยนสู่ระบบสมาร์ทแมนูแฟคเจอริง คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดเวลาการผลิตสินค้า และประหยัดพลังงาน ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตโดยรวม ส่วนพื้นที่โรงงานมีขนาด 2,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ผลิต 800 ไร่ และพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบและแหล่งน้ำ 1,200 ไร่

TCP กระทิงแดง ทุ่มหมื่นล้านขยายฐานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในจีน-เนปาล

สำหรับภาพรวมการผลิตสินค้าในไทย แบ่งเป็นในประเทศ 39% และส่งออก 61% ผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ มีตลาดหลักในการส่งออก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม 75% มาเลเซีย 10% เมียนมา 6% และลาว-สิงคโปร์ สัดส่วนใกล้กันที่ 1-2% สำหรับกลยุทธ์การเติบโต ท่ามกลางตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่แข่งขันสูง มุ่งขยายธุรกิจไปยังกลุ่มสินค้าอื่นๆ ได้แก่

  • เครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์: สปอนเซอร์
  • เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงก์: แมนซั่ม และไฮ่! DHC
  • เครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม
  • เครื่องดื่มกลุ่มให้พลังงาน (พรีเมียม)

เฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ที่มีการเติบโตมากกว่า 20% ในช่วงที่ผ่านมา โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ 2 รายการในปีนี้

นายสราวุฒิ กล่าวว่า แม้จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่บริษัทกระทิงแดงยังคงมุ่งมั่นตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2567 ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานในไทยจะมีการเติบโตแบบสองหลัก ไตรมาสแรกธุรกิจเติบโตประมาณ 6-7% โดยบริษัทครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยประมาณ 17-18%

TCP กระทิงแดง ทุ่มหมื่นล้านขยายฐานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในจีน-เนปาล

นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 68 ปี การก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ TCP ได้เปิดตัว “TCP Legacy Museum” อยู่ที่โรงงานจังหวัดปราจีนบุรี โดยเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มธุรกิจ รวมประวัติศาสตร์และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มให้พลังงาน การสร้างแบรนด์กระทิงแดงและเรดบูล โดยตั้งเป้าหมายว่า TCP Legacy Museum จะกลายเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดปราจีนบุรีในระยะยาว พร้อมเป็นแหล่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการต่างๆ ในระยะยาว